ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

เร่งศึกษาปรับขึ้นเงินเดือนอาจารย์มหาลัย

       นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีกลุ่มตัวแทนข้าราชการอาจารย์ และเจ้าหน้าที่สังกัดมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่ออาจารย์ที่ร่วมสนับสนุนเรียกร้องขอให้ปรับเงินเดือน ของข้าราชการอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ให้เท่ากับครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และขอให้จัดทำแท่งเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้เป็น เอกเทศ ไม่ต้องอิงกับแท่งเงินเดือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาการนั้น นายพงศ์เทพได้มอบหมายให้ตนดูเรื่องนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่อาจารย์กลุ่มดังกล่าวมาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความ ไม่เป็นธรรมต่างๆ ปัญหานี้เกิดในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นรัฐบาล ได้ขึ้นเงินเดือนครูประถม และมัธยมศึกษา 8% โดยไม่ได้นึกถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่อมาครูได้ปรับเพิ่มเงินเดือนเหมือนข้าราชการคนอื่นๆ อีก 5% ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่ากับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ.ได้ปรับขึ้นเงินเดือนถึง 13% ดังนั้น ถ้าครูสังกัด สพฐ.และอาจารย์มหาวิทยาลัย มีเงินเดือนเท่ากันเมื่อปี 2554 ถึงวันนี้ครูประถมจะมีเงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ถือเป็นความไม่เท่าเทียม ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเท่าที่ควร
          นายภาวิชกล่าวต่อว่า ส่วนที่กลุ่มอาจารย์เสนอให้แยกแท่งเงินเดือนของข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ออกจากบัญชีเงินเดือนของ ก.พ.นั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ ต้องไปศึกษาให้ชัดเจนก่อน ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สกอ.มาให้ข้อเท็จจริง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ก่อน ขณะเดียวกันจะต้องศึกษาแนวทางการดำเนินงานปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการครูฯ จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่ามีแนวปฏิบัติอย่างไร
          "เรื่องนี้ต้องไปศึกษารายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน รวมถึงดูรายละเอียดต่างๆ หากพบว่าไม่เป็นธรรมจริง ก็ต้องแก้ไข ผมเชื่อว่ารัฐบาลยินดีให้ความช่วยเหลือ เพราะหากต้องปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจริง ก็ไม่น่าจะมีปัญหา และน่าจะใช้งบประมาณไม่มาก เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยมีจำนวนไม่มากเท่ากับครู" นายภาวิชกล่าว
          นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา รัฐบาลไม่ได้ส่งอัตราข้าราชการให้มหาวิทยาลัย แต่คืนอัตราเกษียณมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทน ทำให้ขณะนี้ในมหาวิทยาลัยมีจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 50% ของจำนวนบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งระบบ มีข้าราชการ 25% ที่เหลืออีก 25% เป็นบุคลากรประเภทอื่นๆ อาทิ ลูกจ้าง ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรจะดูแลให้เกิดความเท่าเทียม และเป็นธรรมทั้งระบบ

          --มติชน ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

แสดงความคิดเห็น