รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังจัดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎ
ก.ค.ศ.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ...
ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 279 และ มาตรา 280 และ
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 19(4)
ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีผลบังคับให้ข้าราชการครู
ต้องปฏิบัติตามร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
แนบท้ายร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยประมวลจริยธรรม
โดยได้มีการกำหนดประมวลจริยธรรมไว้ 15 ข้อ อาทิ ข้อ 4
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพึงยึดถือคุณธรรม 4 ประการ ตาม
พระบรมราโชวาท เป็นเครื่องกำหนดกรอบในการประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่
การรักษาสัจความจริงใจต่อตนเองที่จะปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็น
ธรรม การอดทนอดกลั้นไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม, ข้อ 6
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม
โดยต้องอบรมสั่งสอนศิษย์ด้วยจิตเมตตาไม่เบียดเบียน
ไม่ทำร้ายหรือละเมิดต่อศิษย์
มีจิตกรุณาให้ความคุ้มครองปกป้องศิษย์ตามความเหมาะสมและจำเป็น
ละเว้นการเข้าไปเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมและอบายมุข
ไม่ใช้เวลาราชการ เงิน ทรัพย์สิน
บุคลากรหรือสิ่งอำนวยความสะดวกของทางราชการไปเพื่อประโยชน์ทำธุรกิจของตน
หรือของผู้อื่น
ไม่กระทำกิจกรรมหรือประกอบอาชีพเสริมที่มีลักษณะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
หรือเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม
ไม่ใช้อำนาจหน้าที่หรือกรรมการใดที่เป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลใดด้วยความไม่
เป็นธรรม หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นต้น, ข้อ 11
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบ
ถ้วนและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง, ข้อ 12
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน
มีคุณภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นต้น
รายงานข่าวระบุด้วยว่า
ในร่างกฎ ก.ค.ศ.ดังกล่าว ยังกำหนดไว้ว่าการละเมิด
ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม เป็นความผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วย
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำส่วนราชการ
หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี
และยังกำหนดให้ดำเนินการทางวินัยและลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการครูและบุคลากร
ทางการศึกษาที่กระทำการละเมิด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการขึ้น
เพื่อกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม ทั้งนี้
ในส่วนของมาตรฐานจริยธรรมที่กำหนด จะต้องมีการพิจารณาปรับหรือทบทวนทุกๆ 4
ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากครู
ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยประมวลจริยธรรม
และร่างประมวลจริยธรรม แนบท้ายแล้ว จะต้องนำเสนอที่ประชุม
ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นชอบ เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
แหล่งข่าวจาก ก.ค.ศ.ระบุด้วยว่า ร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยประมวลจริยธรรม
และร่างประมวลจริยธรรมที่อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์นี้ หากมีการประกาศใช้
จะถือเป็นครั้งแรก เพราะแม้ก่อนหน้าจะมีการจัดทำมาหลายรอบแล้ว
แต่ยังไม่มีการประกาศใช้ ขณะที่ส่วนราชการอื่นๆ เช่น
ข้าราชการพลเรือนได้กำหนดประมวลจริยธรรมออกมาแล้ว
ที่สำคัญร่างประมวลจริยธรรมของครูฉบับดังกล่าว
ได้กำหนดประมวลจริยธรรมค่อนข้างละเอียดกว่าระเบียบวินัยของข้าราชการ เช่น
กรณีการประกอบอาชีพเสริม หากครูนำเครื่องสำอาง อาหารเสริม
หรือขายประกันให้แก่นักเรียน ก็อาจจะเข้าข่ายผิดจริยธรรม
แต่ทั้งหมดนี้จะต้องมีการตีความและพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน