ปัญหาคะแนนวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยตกต่ำ
กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคการศึกษาต้องเร่งแก้ไข
ดังนั้นสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
(DAAD) เปิดตัว โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย
ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
เพื่อจุดประกายความคิดให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงบันดาลใจ สนุกกับการเรียน
โดยสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้เสมือนอยู่ในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา
สสวท.ได้เดินหน้าโครงการโดยจัดค่ายเตรียมความพร้อมครูวิทยากรประจำศูนย์
พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาขึ้น นางดวงสมร
คล่องสารา รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า
การเตรียมความพร้อมของครูวิทยากรในครั้งนี้
จะทำให้ครูเข้าใจกิจกรรมที่จะนำไปใช้ในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์
ซึ่งทุกกิจกรรมผ่านการยอมรับในหลายประเทศ เช่น จีน อียิปต์
และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจ
มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์มากขึ้น
นางฤทัย จงสฤษดิ์
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า
กิจกรรมในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก เป็นกิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์
ที่เน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติ และพยายามใช้ประสาทสัมผัสที่มีอยู่
ซึ่งจะต้องเน้นจุดประกายในสิ่งที่เหมาะสม
และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็กด้วย
โดยกิจกรรมที่นำมาอบรมครูมีหลายชุด อาทิ กิจกรรมการทดลองชุด "ผลไม้สกุลส้ม"
และชุด "เคมีของน้ำนม" เป็นต้น
กิจกรรมการทดลองชุด
"ผลไม้สกุลส้ม"
เป็นกิจกรรมที่จะทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลไม้สกุลส้มและได้
รับประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับผลไม้สกุลส้มผ่านการปฏิบัติทดลองทางวิทยา
ศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการทดลองตามคุณสมบัติ คือ เรื่อง "กลิ่น"
ที่จะได้เรียนรู้ถึงคุณสมบัติพิเศษของผลไม้สกุลส้ม นั่นคือ มีกลิ่นหอม
แล้วกลิ่นหอมนี่มาจากไหน มีคุณสมบัติอย่างไร
และคุณสมบัตินี้น่าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีก นอกจากนำไปทำน้ำมันหอมระเหย
เพื่อใช้สำหรับผ่อนคลาย ครูจะหาคำตอบได้จากกิจกรรมนี้
ต่อกันที่เรื่อง "กรด"
ซึ่งเป็นการทดลองที่แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติความเป็นกรดของผลไม้สกุลส้ม
เราคงคุ้นเคยกันดีว่าเวลาทานมะนาวแล้วรู้สึกเปรี้ยว
ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่แสดงความเป็นกรด แต่เราจะรู้ได้อย่างไร
การทดลองนี้
ครูจะได้ทดสอบความเป็นกรดของผลไม้สกุลส้มและยังสามารถทดสอบความเป็นกรด-ด่าง
สารเคมีต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
โดยใช้น้ำกะหล่ำปลีม่วงเป็นอินดิเคเตอร์หรือตัวชี้วัดความเป็นกรด-ด่าง
การทดลองนี้จะได้เห็นน้ำกะหล่ำปลีม่วงเปลี่ยนจากสีม่วงแดงเป็นสีสันต่างๆ
มากมาย
น.ส.สุกัญญา พรน้อย ครูโรงเรียนวัดดอนทอง จ.ฉะเชิงเทรา
กล่าวว่า การปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยทำให้เด็กสนุก
และได้ทดลองทำกิจกรรมต่างๆ
ด้วยตัวเองจะทำให้เขาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น
นายพิสิทธิ์
ฤทธิ์เนติกุล ครูโรงเรียนอัสสัมชัญธัญบุรี กรุงเทพฯ กล่าวว่า
เป็นการนำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาเป็นสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
และเป็นการสอนที่ดีมาก สำหรับโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมเรื่องสื่ออุปกรณ์
ในขณะเดียวกันก็เป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ตามธรรมชาติมาเตรียมเอง
เด็กก็จะเกิดความภาคภูมิใจและเห็นว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวจริงๆ
นับว่าโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย
เป็นอีกหนึ่งความหวังในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทยหัวใจวิทย์ในการก้าว
เดินสู่อนาคตอย่างมั่นใจและมั่นคง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน