แนะ ศธ.เตรียมแผนขอคืนอัตราเกษียณให้ชัดเจน
ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนานโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบการศึกษาไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ศธ.แก้ปัญหาการศึกษาที่ผ่านมา เหมือนจะมาถูกทางแต่ก็พบกับดักทางการศึกษา คือ 1.การควบคุมคุณภาพการศึกษา โดยกำหนดให้ครูทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และทำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะ ซึ่งดูเหมือนจะมาถูกทางแต่มีกับดัก คือ ทำให้ครูทำแต่ผลงานวิชาการ และทิ้งห้องเรียน ส่วนการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ไม่ได้ทำให้ครูมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพราะเราให้ครูประจำการได้รับใบอนุญาตฯทันที ขณะที่เราผลิตครูใหม่ 5 ปี และรับใบอนุญาตฯ ขณะนี้ก็ผลิตได้เพียง 20,000 คน เป็นเลือดใหม่ในวงการ ขณะที่เลือดเก่ายังมีอยู่กว่า 3 แสนคน ที่สำคัญ ผลิตครูใหม่แล้ว โรงเรียนก็ไม่ใช้ครูตามสาขาที่จบเอกมา ก็เป็นปัญหาคุณภาพตามมาอีก
2.เรื่องการกระจายอำนาจของ ศธ.ให้เขตพื้นที่มีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเขตพื้นที่ และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.ซึ่งมีอำนาจในการโยกย้ายครู โดยที่ ผอ.เขตพื้นที่ มีหน้าที่เหมือนตรายาง ทั้งนี้ ตนเสนอว่า ต้องกระจายอำนาจให้คณะบุคคล ไม่ใช่บุคคลคนใดคนหนึ่ง และควรยุบกรรมการทั้ง 2 ชุดให้เหลือเพียงชุดเดียว และ 3.ศธ.ควรปรับปรุงการขอคืนอัตราเกษียณ ให้เร็วขึ้น ที่ ผ่านมา ศธ.เสนอขอคืนอัตราเกษียณ หลังจากวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี และขั้นตอนการคืนอัตราเกษียณ ก็ล่าช้า ทำให้โรงเรียนขาดครูที่จะมาทดแทน ที่สำคัญ ศธ.เล่นการเมืองมากไป มุ่งจะขออัตราคืนในช่วงเวลาใกล้เปิดเทอม เพื่อเป็นการบีบให้รัฐบาลเร่งคืนอัตรา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ในแต่ละปีมีครูเกษียณกี่คน ดังนั้น ควรวางแผนการขอคืนอัตราเกษียณตั้งแต่เดือน พ.ค.ของทุกปี เมื่อครูเกษียณก็จะมีครูใหม่เข้ามาทำงานแทนได้ทันที
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า ขอฝากให้ รมว.ศึกษาธิการ ส่งเสริมการทำวิจัยของประเทศ ขณะนี้รัฐบาลสนับสนุนงบวิจัย เพียง 0.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ เราควรแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย่ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยเพื่อการสอน และบริการสังคม เพื่อสนับสนุนงบวิจัยให้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังอยากให้ ศธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมา ศธ.สนใจพัฒนาคุณภาพครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ละเลยอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสาร ขณะนี้คนที่มีความสามารถมากที่สุด ไม่สนใจที่จะเลือกทำงานในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยเฉพาะคนที่จบจากต่างประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเลือกคนที่จบในประเทศ ซึ่งเราก็ต้องมีมาตรการพัฒนาบุคลากร ให้ได้ดูงานต่างประเทศ เพื่อเปิดโลกทัศน์ แต่ที่ผ่านมา ศธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยในอันดับท้ายๆ
ที่มา : ผู้จัดการ