เป็นข่าวฮอตทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่พักหนึ่งสำหรับการเคลื่อนไหวของชมรมครู
อัตราจ้างตามโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ SP2
ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
นำโดย
นายอมรัตน์ ทองสาดี ประธานชมรมครูอัตราจ้างฯ ที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ภายหลังเสียสิทธิในการสมัครสอบเพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการ
เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย
กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 6-12 ธันวาคมที่ผ่านมา
เรื่องของเรื่องก็คือ ตามหลักเกณฑ์ ว12 กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย จะต้องเป็นครูอัตราจ้างที่จ้างด้วยเงินงบประมาณเท่านั้น
ถ้าเป็นเงินนอกงบประมาณก็หมดสิทธิ จึงเกิดปัญหาการตีความตามมาว่าแล้วเงินกู้ SP2 จะเข้าข่ายเงินงบประมาณหรือไม่?
ที่ผ่านมามีบางเขตพื้นที่การศึกษาตีความว่าเป็นเงินงบประมาณ จึงรับสมัครครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ไปแล้ว
ขณะที่บางเขตพื้นที่ฯ ตีความว่าเงินกู้ SP2 เป็นเงินนอกงบประมาณ จึงปฏิเสธที่จะรับสมัครครูอัตราจ้างกลุ่มนี้
เมื่อแนวปฏิบัติเกิดความลักลั่นเช่นนี้ กลุ่มครูอัตราจ้างผู้เสียสิทธิจึงออกมาร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรม เพราะพวกเขาก็ปฏิบัติหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนกับครูอัตราจ้างประเภทอื่นๆ เช่น ครูอัตราจ้างที่จ้างด้วยเงินที่โรงเรียนเก็บจากผู้ปกครอง แต่กลับได้รับสิทธิสมัครสอบครูผู้ช่วย ว12
ครูอัตราจ้าง สังกัด สพฐ. ทั่วประเทศมีกว่า 20,000 คน โดยเป็นครูอัตราจ้าง SP2 ตามโครงการพัฒนาครูทั้งระบบสาขาครูขาดแคลน 5,290 อัตรา และโครงการยกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3,972 อัตรา ถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3,972 อัตรา ถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับอัตราว่างที่ สพฐ. รับบรรจุแค่ 2,300 อัตรา จาก 224 เขตพื้นที่ฯ และ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.)
โดยเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่ประกาศรับสมัครสอบในครั้งนี้ มีแค่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พัทลุง เขต 1 เท่านั้น เนื่องจากมีอัตราว่างไม่มาก
การเคลื่อนไหวของครูอัตราจ้าง SP2 ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ ด้วยว่า สพฐ. ทำหนังสือด่วนถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และ สพป. ทั่วประเทศในทันที เพื่อขอให้ชะลอการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ พร้อมกับทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทาง การศึกษา (ก.ค.ศ.) เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งครูอัตราจ้างตามโครงการเงินกู้ SP2 ปี 2555, กลุ่มครูธุรการโรงเรียนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอน และกลุ่มครูพี่เลี้ยงที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอน ว่ามีคุณสมบัติที่จะสมัครสอบบรรจุครั้งนี้ได้หรือไม่
ซึ่ง 2 กลุ่มหลัง ถือว่าเป็นการขอหารือไปในคราวเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันอีก
ผลหารือปรากฏว่าคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล ซึ่งทำหน้าที่แทน ก.ค.ศ. ได้ประชุมหารือเรื่องนี้แล้วมีข้อสรุปว่า ครูอัตราจ้างตามโครงการเงินกู้ SP2 และอัตราจ้างตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กพิการที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอน มีสิทธิสมัครสอบได้
แต่กลุ่มครูธุรการโรงเรียนตามโครงการคืนครูให้นักเรียนไม่มีสิทธิสมัคร เพราะ สพฐ. มีหนังสือสั่งการไปยังเขตพื้นที่การศึกษาว่าครูกลุ่มนี้ไม่ให้สอนหนังสือ ฉะนั้น ทำให้ขาดคุณสมบัติ
ส่วนกรณีอื่นๆ อาทิ กลุ่มแล็บบอย ก็ไม่สามารถสมัครสอบได้ เพราะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ช่วยเตรียมการทดลองเท่านั้น ไม่ได้สอนหนังสือ
สพฐ. โดย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สพม.
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สพม. และ สพป. ที่ประกาศสอบทั่วประเทศ ให้ออกประกาศรับสมัครเพิ่มเติมเฉพาะกรณีครูอัตราจ้างปฏิบัติการสอนตาม โครงการเงินกู้ SP2 ปี 2555 และอัตราจ้างตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กพิการที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอน
โดย สพฐ. กำหนดให้รับสมัครเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคมที่ผ่านมา ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก 28 ธันวาคม คัดเลือกวันที่ 13 มกราคม 2556 และประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 28 มกราคม 2556
โดยหลักฐานประกอบการรับสมัคร กำหนดว่าปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่ระบุในประกาศรับสมัครคัดเลือก จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจไม่หลังจากวันที่ 12 ธันวาคม
และเนื่องจากมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในบางรายวิชาน้อยมาก จึงให้เขตพื้นที่การศึกษาจัดห้องสอบ โดยรวมผู้เข้าสอบแต่ละวิชาได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่เกินห้องสอบละ 25 คน
การรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยแต่ละครั้ง ได้รับความสนใจจากแวดวงการศึกษาเสมอ ด้วยว่ารัฐบาลประกาศรับสมัครไม่บ่อยครั้งนักในแต่ละปี
แถมแต่ละครั้งที่รับสมัคร ก็มีอัตราบรรจุได้แค่หลักพัน ในขณะที่แต่ละปีมีคนจบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปีละ 50,000 คน ยกเว้นปี 2555 ที่มียอดรับสมัครนักศึกษาครูถึง 100,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ต้องจับตามองว่ายอดสมัครสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ที่เขตพื้นที่ฯ และ สศศ. รายงานไปยัง สพฐ. ภายหลังการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 นั้น จะมีตัวเลขเท่าใด
ด้วยว่าแค่ยอดสมัครรอบแรกก็ปาไป 18,258 คนแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ครอบคลุมถึงกลุ่มครูอัตราจ้าง ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่การสอนมาแล้ว 3 ปีด้วย ส่วนกลุ่มวิชาที่เปิดสอบ มี 30 กลุ่มวิชา โดยพบว่าสาขาที่ได้รับความสนใจสมัครมากที่สุด ได้แก่ สาขาวิชาเอกทั่วไป จำนวน 9,869 คน รองลงมา คอมพิวเตอร์ 1,317 คน และพลศึกษา 938 คน
สำหรับสาขาที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด คือ กิจกรรมบำบัด จำนวน 1 คน กายภาพบำบัด 3 คน และวิชาเอกภาษาญี่ปุ่น 4 คน
ส่วนวิชาที่ใช้สอบคัดเลือก จะเป็นวิชาความรอบรู้ วิชาความถนัดและเจตคติต่อวิชาชีพครู วิชาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพ ที่ออกข้อสอบโดย สพฐ. คะแนนเต็มวิชาละ 50 คะแนน รวม 200 คะแนน ซึ่งต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยจะประกาศผลเรียงลำดับคะแนนรวมจากมากไปน้อย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความสำเร็จแค่ก้าวแรกเท่านั้น เพราะหากครูอัตราจ้างจากเงินกู้ SP2 กลุ่มนี้ ไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ ก็จะต้องรับเงินเดือนตามสัญญาจ้างปีต่อปีต่อไปตามเดิม พูดง่ายๆ ว่าชวดเงินเดือน 15,000 บาทตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูอัตราจ้างกลุ่มนี้กำลังเรียกร้องอยู่
ฉะนั้น เอาใจช่วยเพื่อนครูทุกคนให้สอบผ่านในวันที่ 13 มกราคม 2556 นี้ให้ได้...
--มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ม.ค. 2556--