ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา : ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

          กลิ่น สระทองเนียม          ครั้งที่ผ่านมาผู้เขียนได้สะท้อนถึงปัญหาความตกต่ำคุณภาพการศึกษาของเด็ก ไทย.น่าจะโทษใครดี และท้ายที่สุดได้สรุปไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนเมื่อเป็นเช่นนี้จึง เป็นหน้าที่ที่จะต้องมาร่วมกันแก้ไขเพื่อทำให้คุณภาพเด็กไทยดีขึ้น แต่ด้วยงานนี้เป็นงานที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เป็นงานใหญ่เห็นผลช้า การที่จะไปแยกกันคิด แยกกันทำ หรือทำแบบเรื่อย ๆ มาเรียงคงไม่ได้ เพราะแค่นี้ก็แทบจะไม่มีคลองให้ถอยหลังลงไปอีกแล้ว ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาคุณภาพเด็กให้ได้ผลนั้น จึงน่าจะต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมทำกันอย่างจริงจังปัญหาที่ว่านี้ก็น่าจะมีทางออกอยู่มากมายซึ่งทางออก ที่ว่านี้คงจะขอนำมายกตัวอย่างให้เห็นเพียงบางส่วน ดังนี้
          ระดับชาติ น่าจะต้องแก้กฎหมายการศึกษากันอีกครั้ง เพื่อปรับส่วนที่เป็นได้แค่หลักการสวยหรูแต่ปฏิบัติไม่ได้ผลออกไปแล้วนำสิ่ง ที่จะส่งผลถึงตัวเด็กจริง ๆ เข้ามาแทน โดยเฉพาะการนำกรมวิชาการกลับคืนมาเพราะถือเป็นหัวใจด้านวิชาการของชาติ ที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัยสาระเนื้อหา วิธีการพัฒนาอย่างเป็นระบบตลอดแนว ดีกว่าปล่อยให้หน่วยงานอื่นที่มีแต่หลักการแต่ไม่รู้ลึกรู้จริงถึงบริบทการ จัดการศึกษามาตรวจสอบแล้วโยนปัญหากลับมาให้เช่นเดิม รวมถึงออกกฎหมายบังคับให้ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่จัดการศึกษาทั้งภาครัฐและ เอกชนต้องคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนตามกฎหมายและแผนการศึกษาชาติที่กำหนดไว้ เพื่อมิให้จัดการศึกษาไปคนละทิศละทางหรือเปลี่ยนแปลงตามรัฐบาล ส่วนต่อมา คือ งบประมาณที่ใช้พัฒนาคุณภาพเด็กต้องจัดให้พอเพียงเพราะปัจจุบันงบประมาณส่วน ใหญ่ถูกนำไปเป็นค่าจ้าง เงินเดือน มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เงินที่ใช้พัฒนาคุณภาพถึงตัวเด็กจริง ๆ มีน้อยมาก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับงบประมาณน้อยตามจำนวนเด็กและโอกาสที่จะ ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกก็เป็นไปได้ยากการจัดสรรงบประมาณจึงน่าจะจัดให้ เพียงพอและถูกจุดโดยเน้นไปที่โรงเรียนขาดแคลนเป็นหลักไม่ใช่หว่านแหจ่ายเป็น ค่ารายหัวเหมือนกันทุกโรงเรียน มิฉะนั้นแล้วคุณภาพเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กก็คงแก้ไขได้ยาก
          ระดับกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งแรกเลยที่ต้องแก้ไข คือ ไม่ควรเปลี่ยนรัฐมนตรีกันบ่อย เพราะจะทำให้เกิดนโยบายใหม่ เลิกนโยบายเก่า ขาดความต่อเนื่องรวมถึงสร้างความสับสนให้กับภาคปฏิบัติอีกด้วย เรื่องต่อมา คือ หลักสูตรการศึกษาที่นอกจากจะต้องลดจำนวนสาระการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นแต่ละ ระดับลงแล้วยังต้องสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในแต่ละกลุ่ม เพราะหากหลักสูตรมีเป้าหมายเดียวกันคือหวังให้เด็กไปสู่ความเป็นเลิศทั้งหมด ปัญหาก็อย่างที่เห็นกันอยู่ คือกลุ่มหนึ่งยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ต้องเรียนทุกกลุ่มสาระแต่เมื่อพื้นฐานยังไม่ได้การเรียนรู้สาระอื่น ๆ ก็ด้อยไปด้วยเมื่อเรียนไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง ความเครียดก็เกิดขึ้น หากหลักสูตรสามารถตอบสนองเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้ก็จะทำให้การจัดการศึกษา สะดวกเกิดผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีการที่ว่านี้หลักสูตรจึงน่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ กลุ่มเด็กที่มีศักยภาพสูงพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาเฉพาะทาง กลุ่มเด็กที่ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พ้นวงจร โง่ จน เจ็บ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข และกลุ่มสุดท้าย คือ เด็กในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่พิเศษ ที่ยังต้องพัฒนาด้านการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ดีต่อการดำเนินชีวิต และควรเปลี่ยนระบบการวัดผลจากตกซ่อมได้มาเป็นสอบได้สอบตกเช่นเดิมเพื่อจะทำ ให้ฐานความรู้เด็กแน่นขึ้นและเด็กเกิดความกระตือรือร้นกับการเรียนรู้มาก ขึ้น ส่วนต่อมาคือ เป้าหมายคุณภาพการศึกษาของชาติจะต้องมีความชัดเจนและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบี้ยวกลางทางตามกระแสความนิยมอย่างที่เป็นอยู่ เพราะแม้กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ต้องการให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ "ดี เก่ง มีความสุข" แต่ทำไปทำมา ทำท่าจะใช้ผลการสอบ O-NET เป็นเป้าหมายคุณภาพเด็กไทยไปแล้ว ทั้งที่ไม่ได้สอบทุกชั้นทุกกลุ่มสาระและจำนวนข้อสอบแต่ละวิชาก็มีไม่กี่ข้อ ที่สำคัญข้อสอบที่ว่านี้ก็ไม่สามารถวัดผลพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ ได้ ยิ่งให้นำผลไปเกี่ยวข้องกับการประเมินวิทยฐานะของครู การประเมินของ สมศ. ด้วยแล้วทำให้โรงเรียนหลายแห่งเกิดการสอนข้อสอบ O-NET เกิดขึ้น อีกปัญหาหนึ่ง ก็คือ เจตคติการเรียนรู้ของเด็กและผู้ปกครองที่มุ่งหวังแค่การเข้ามหาวิทยาลัยจึง ใส่ใจอยู่แค่เนื้อหาวิชาการโดยไม่สนใจคุณภาพด้านอื่น ดังนั้นการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรนำคุณภาพด้านอื่นมาเป็นเกณฑ์ตัดสินด้วย
          ระดับหน่วยเหนือ คงจะต้องปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายโดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ติดตาม กำกับและประเมินผล มากกว่าจะมาเป็นผู้ปฏิบัติเสียเอง เพราะการที่ไปคิดวิธีการแก้ปัญหาหรือพัฒนาด้วยการจัดโครงการ กิจกรรม ส่งไปให้แต่ละพื้นที่ที่มีบริบทต่างกันต้องทำเหมือนกันทั้งหมดนั้น คงได้ผลน้อยแถมยังไปเพิ่มภาระให้กับครู ส่วนนี้จึงน่าจะส่งเงินไปให้โรงเรียนเป็นผู้คิดดำเนินการเองจะได้ผลมากกว่า สิ่งที่ต้องแก้ไขต่อมาคือ ต้องจัดครูให้พอสอนครบชั้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก และให้พอสอนทุกวิชากับโรงเรียนขนาดใหญ่เพราะหากปล่อยให้ครูขาดแคลนแถมมีงาน อื่นให้ทำอีกมากมายอยู่เช่นนี้คงจะเรียกร้องหาคุณภาพได้ยาก ส่วนเรื่องคุณภาพครูก็น่าจะมีวิธีการที่ดีกว่าการจัดอบรมหรือให้ทำข้อสอบ เพราะการที่ครูขาดคุณภาพนั้นคงไม่ใช่อยู่แค่ความรู้อย่างเดียว ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการเหนื่อยล้ากับงานอื่น ๆ หรือมีปัญหาสุขภาพอีกส่วนหนึ่งอาจได้คนที่ไม่มีใจรักอาชีพครูมาเป็นครู ทำให้ขาดอุดมการณ์ในการทำงานวิธีแก้ปัญหาที่น่าจะได้ผลก็คือการสร้างขวัญ กำลังใจทั้งความก้าวหน้าในวิชาชีพและมีรายได้ที่เหมาะสมกับภาระงานที่สอน เกินเวลา สอนซ่อมเสริม หรือสอนอยู่โรงเรียนที่ครูขาดแคลนหรือในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ รวมถึงการหาคนเก่งในพื้นที่มาเรียนครู แล้วส่งกลับไปสอนในท้องถิ่นของตนเอง อย่างเช่นโครงการเพชรในตม หรือโครงการคุรุทายาท ที่เคยทำได้ผลมาในอดีต
          ส่วนระดับภาคปฏิบัติคือ ครูก็คงต้องปฏิรูปตนเองด้วยการปรับตัว ปรับใจ ปรับความเชื่อมั่นเปิดใจกว้างยอมรับการพัฒนาให้เท่าทันกับวิทยาการและ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อจะได้มีภูมิความรู้เพียงพอกับการเป็นผู้ให้ รวมถึงการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนให้เข้ากับยุคสมัย เพราะวิธีการสอนแบบเดิม ๆ โดยครูเป็นผู้บอกหรือเล่าเนื้อหาอย่างที่เคยใช้ได้ผลมาในอดีตนั้น เมื่อถึงยุคที่เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปตามกระแสวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัย ใหม่นี้การที่จะทำให้เด็กเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข ได้นั้นวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คงต้องหลากหลายและเหมาะสม ที่สำคัญต้องเป็นครูมืออาชีพจริง ๆ ถึงจะทำให้งานหนักงานยากนี้เกิดผลได้ นอกจากนั้นหน่วยงานภาครัฐทั้งหลายก็คงต้องทำหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบอยู่ ทั้งการแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาทุพโภชนาการ ปัญหาอบายมุขต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่โยนมาเป็นงานฝากให้โรงเรียนทำแทนแบบไร้งบประมาณอย่างทุกวันนี้ยิ่งไป เพิ่มภาระงานรองให้มากกว่างานหลักยิ่งขึ้น
          คุณภาพเด็กไทยที่ตกต่ำทั้งด้าน IQ, EQ,  MQ, AQ นี้ก็มาจากหลากหลายปัจจัยดังนั้นการแก้ไขและพัฒนาจึงต้องเกิดจากความร่วมมือ ของทุกภาคส่วนที่ต้องทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพราะคุณภาพบุคลากรเป็น เรื่องสำคัญต่อประเทศชาติ ทุกฝ่ายจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกมากกว่าจะมัวไปยุ่งอยู่กับเรื่อง เศรษฐกิจ การเมือง จนลืมดูแลคุณภาพบุคลากรของชาติไป เพราะหากเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติมีคุณภาพต่ำการที่จะอยู่ในสังคมโลกที่มี การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้คงเป็นไปด้วยความลำบาก ในที่สุดก็จะแข่งขันสู้กับใครไม่ได้กลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปในที่สุด เพราะทุกวันนี้ก็เห็นเค้าลางแล้วเพราะแม้แต่อาเซียนเราก็เริ่มล้าหลังไปแล้ว มิใช่หรือ.

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

แสดงความคิดเห็น