ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

นานาทรรศนะ..คลุกวงในการศึกษา งบฯ เกรดเอ - คุณภาพติดเอฟ

     ย้อนไป ไม่ถึง 10 ปี เราค่อนข้างภูมิใจว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยนั้นนำลิ่ว โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนบ้านอาเซียน แต่มาวันนี้ครั้นจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน บทพิสูจน์เรื่องความรู้ ความสามารถของเด็กไทยกลับตกมาตรฐาน แพ้หลายประเทศอาเซียน


* วารินทร์ พรหมคุณ
นานาทรรศนะ..คลุกวงในการศึกษา
งบฯ เกรดเอ - คุณภาพติดเอฟ

     พลเมืองคุณภาพ ย่อมสร้างชาติอย่างมีคุณภาพ โดยอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือพัฒนาพลเมืองและประเทศชาติ     แต่ทว่าหลายปีมานี้ภาพสะท้อนระบบการศึกษาไทย มิอาจพูดได้เต็มปากว่า มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น 
     ยิ่งผลประเมินทั้งในประเทศและนานาชาติต่างตอกย้ำว่า คุณภาพการศึกษาในบ้านเรากำลังแย่ ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนที่ยุคสมัยหนึ่งเคยเป็นรองรั้งเรา แต่วันนี้กลับแซงหน้าไปไม่เห็นฝุ่น
     หลายคนคงกำลังเถียงว่าไม่จริงหรอก มันก็แค่ผลประเมินเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเราๆ ท่านๆ ยังคงยิ้มปลื้มกับ "เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการ" ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ..และหลายเวทีที่เด็กไทยขั้นพื้นฐานจนถึงระดับปริญญาไปสร้างชื่อเสียงให้ ประเทศ เป็นข่าวคราวให้รับรู้กันอยู่เนืองๆ
     แน่นอนว่าย่อมมีเหตุผลสารพัดที่ต่างยกมาอ้างสร้างความน่าเชื่อถือ  
     แต่กระนั้นก็อยากให้เปิดใจลองฟังทรรศนะของ "คนวงใน" ว่าคิดอย่างไรกับคุณภาพการศึกษาไทย ที่ทุ่มทุนมหาศาล...แต่ค่าความสำเร็จกลับมีความเสี่ยง  

     @ ลงทุนไม่คุ้มค่า & ปัดสวะให้พ้นตัว
     รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สะท้อน ประเด็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกนั้นคือ คุณภาพการศึกษา ย้อนไปไม่ถึง 10 ปี เราค่อนข้างภูมิใจว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยนั้นนำลิ่ว โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนบ้านอาเซียน แต่มาวันนี้ครั้นจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน บทพิสูจน์เรื่องความรู้ ความสามารถของเด็กไทยกลับตกมาตรฐาน แพ้หลายประเทศอาเซียน 
     และปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องการเป็นเอกภาพของรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามา ก็มักมีเรื่องการบริหารเชิงตั้งรับ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอด แม้จะพูดกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกระทรวงเกรดเอ ซึ่งแบ่งโดยจำนวนงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีนั่นน่ะใช่ แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นใน ศธ. เป็นเพราะมีการปรับเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ อยู่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน แต่ก็มีความแตกต่างเรื่องนโยบาย ก็เหมือนกับระบบราชการไทยทั่วๆ ไปที่ไม่อยากสานต่อนโยบาย เดิมของคนอื่น เพราะเกรงว่าจะเป็นผลงานของคนอื่น
     ตรงนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้งานด้านการศึกษาไม่คืบหน้า 

     แม้แต่เรื่องการคอร์รัปชัน ก็โยนกลองกันไปให้พ้นตัว และหากข้าราชการการเมืองมองอย่างนี้ ข้าราชการประจำยิ่งแล้วใหญ่ เพราะกลัวถูกตีตราว่าเป็นคนของพรรคนั้น พรรคนี้ ระยะหลังๆ เราจึงเห็นว่า ศธ. เล่นการเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าราชการประจำ หรือเพราะอาจเป็นความจำเป็นที่ต้องห้อยโหนเกาะเกี่ยวกับรัฐมนตรีใหม่ไป เรื่อยๆ ดังนั้นจะบอกว่านโยบายที่ออกมาเป็นนโยบาย ศธ.ทำไมทำไม่สำเร็จ ก็เป็นเพราะนโยบายมาจากหลากหลายรัฐมนตรี แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน
     "ปัจจุบัน รมว.ศึกษาธิการ นั่งควบรองนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งทำให้การแบ่งเวลาทำงานยากขึ้น แม้จะมี รมช.ศึกษาธิการ มาช่วย แต่อำนาจหน้าที่หลักหลายเรื่องต้องผ่าน รมว.ศึกษาธิการ ก่อนอยู่ดี ยิ่งขณะนี้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มาแย่งเวลาไปเกินครึ่ง เพราะเป็นงานนโยบายเชิงปฏิบัติและความมั่น ดังนั้นการบริหารแค่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การดูแลคุ้มครองครู ไม่ใช่สั่งการลำพังได้ ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย"
     @ เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งอาชีวะ       ศ.ดร.ธีระวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มองว่าโดยหลักการตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ มีภารกิจหนัก เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงสำคัญ ต้องดูแลการศึกษาของคนทั้งประเทศ แต่เวลานี้ "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" รมว.ศึกษาธิการ กลับนั่งควบเก้าอี้ "รองนายกรัฐมนตรี" ด้วย ทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น  ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เป็นรองนายกฯ ที่ดูแลความมั่นคง ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทุกด้าน ทั้งความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวกับพลเมืองและการศึกษา 
     "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องมีความสอดคล้องว่าต้องไม่ให้เกิดการว่างงานของนักศึกษา เมื่อจบออกมาแล้ว ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ควรมีทีมงานที่ปรึกษาด้านต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมากคน เพราะยิ่งมากความ ขอเพียงให้เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ รู้จริงมาช่วยกันเสนอแนะจะทำให้งานมีประสิทธิภาพและคล่องตัวขึ้น"  
     ศ.ดร.ธีระวุฒิ กล่าวและว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต้องการคนมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ ศธ. ผลิตคนที่มีคุณภาพตามที่ตลาดระดับสากลต้องการ ปัญหาว่างงานก็จะน้อยลง และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องดูแล ผู้ที่จบ ปวช.และปวส.ที่อยู่ในสถานประกอบการ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้เขาเหล่านี้เรียนต่อยอดในวิชาชีพที่ทำงานอยู่ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ
     "วันนี้ อาชีวศึกษาไทย ต้องเปลี่ยนแนวคิด ต้องให้เด็กสามารถไปถึงปริญญาในสายวิชาชีพ ที่เขาเรียนอยู่ ในฐานะที่ผมเรียนจบ ปวช.มาก่อน จึงคิดว่าต้องมีการปฏิรูปการอาชีวศึกษา ต้องเชิญภาคอุตสาหกรรม แต่ละกลุ่มมาหารือถึงการจัดการอาชีวศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า งานเชื่อม ปิโตรเคมี เป็นต้น มาร่วมมือกันในการจัดการศึกษ เพื่อผลิตกำลังคนระดับ ปวช. ปวส.และระดับปริญญาตรีสายตรง เพราะรัฐไม่มีงบประมาณ มากพอมาจัดซื้ออุปกรณ์ เราต้องอาศัยครุภัณฑ์การศึกษาจากสถานประกอบการเหล่านี้ 
     ส่วนครุภัณฑ์พื้นฐาน ก็ต้องรีบส่งเสริมให้สถานศึกษามีไว้ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ ส่วนครุภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ต้องพึ่งเอกชนไปก่อน มิฉะนั้นการผลิตกำลังคนด้านอาชีวะ จะไม่ทันกับความต้องการของสถานประกอบการ เรียนจบแล้วทำงานไม่เป็น เพราะไม่มีเครื่องมือให้ฝึกฝนความชำนาญ"
     @ ห่อเหี่ยวใจ คุณภาพครูไทย
     ดร.ดิเรก พรสีมา
ประธานกรรมการคุรุสภา ให้มุมมองว่า จากเวมีการประชุมครูอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย ไปได้ยินได้ฟังสิงค์โปรและมาเลเซีย เขาพูดถึงเรื่องการศึกษาแล้ว ก็ทำให้ห่อเหี่ยวใจ เพราะมาเลเซีย บอกว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป คนที่จะมาเรียนครู จะต้องเป็นคนที่ได้คะแนนในกลุ่มท็อปเท็นของ ม.6 ซึ่งสิงค์โปรชิงทำไปก่อนแล้ว นอกจากนี้มาเลเซีย ยังประกาศอีกว่าทุกภาควิชา ต้องจัดหาอาจารย์ชาวต่างชาติมาสอนในประเทศ อย่างน้อย 30% ของอาจารย์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการตื่นตัว ขณะที่สิงค์โปร ณ วันนี้ ทุกภาควิชามีอาจารย์ชาวต่างชาติอย่างน้อย 40%  แต่พอดูประเทศไทย แค่จะสอบเอาใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้ได้คนเก่ง ก็ยังค้านกันหัวชนฝา 

     จากประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศ ไม่มีประเทศใดสร้างความสมบูรณ์ เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้ โดยที่คนในประเทศมีคุณภาพต่ำ คิดแก้ปัญหาไม่เป็น และไม่มีประเทศใด ทำให้คุณภาพของคนในประเทศสูงขึ้นได้ โดยที่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย และครูในโรงเรียนมีคุณภาพต่ำเช่นกัน  
     ดร.ดิเรก ยังกล่าวว่า ตอนนี้หากเรามองนโยบาย เหมือนกับว่ารัฐบาล ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก แต่แนวทางปฏิบัติหลายอย่างยังไม่ได้ทำ  แต่เราจะโทษรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ ได้ ซึ่งในส่วนคุรุสภาเอง ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องวิชาชีพครู ที่ผ่านมาก็ขาดเอกภาพในการที่จะผลักดันกฏระเบียบต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิต การรับนักเรียนของสถาบันการศึกษา การควบคุมคุณภาพสถาบันผลิตครู  มาตรฐานการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตอนนี้มันทำได้ง่าย ซึ่งด้วยบริบทของประเทศ เราจะก้าวไปเร็วเหมือนประเทศอื่นก็ไม่ได้ แต่เราก็ต้องก้าวต่อไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง 
     อีกส่วนหนึ่งก็คือ สถาบันผลิตครูของเราขาดความรับผิดชอบ และตอนนี้เราก็ไปเต้นกับประชาคมเศรษฐกิจ แต่ภาพประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีใครสนใจ ...20 ปี ที่ผ่านมาเราก็ไปสนใจแต่ประชาคมการเมือง ความมั่นคง แต่พอ 4-5 ปี หลังไปเต้นกับประชาคมเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นรากฐานที่จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจเดินไปได้คือประชาคมสังคมและ วัฒนธรรม คือต้องสร้างขีดความสามารถของคนให้มีคุณภาพ ให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน คนไม่เอารัดเอาเปรียบ มีสุขภาพอนามัยดี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ประเทศอื่นไม่สนใจเรื่องนี้เพราะเขามั่นคงแล้ว
     ...ขณะที่ประเทศไทยยังก้ำกึ่งอยู่ เราจึงต้องทำประชาคมสังคมดี เมื่อดีแล้วเรื่องเศรษฐกิจก็ดีตาม

     @ 1 ปี 3 เดือน แค่อุปกรณ์เด่น       ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ(ภตช.) มองว่า 1 ปี 3 เดือน ของการบริหารการศึกษา ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การบริหารของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านการคิดนโยบายการหาเสียงโดยทักษิณคิด เพื่อไทยทำ
     โดดเด่นแค่เรื่องอุปกรณ์ นั้นคือ การแจกแท็บเล็ต นักเรียน ป.1 ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมเท่านั้น
     อย่างไรก็ดี ปัญหาการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะเกิดการแทรกสิทธิ์การเข้าเรียนของเด็กนักเรียนเก่า ในบรรดาโรงเรียนแข่งขันสูง ซึ่งนโยบายเบื้องต้นที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) กำหนดคือ รับนักเรียนเก่า 80% และรับนักเรียนสอบเข้าตามเงื่อนไขพิเศษอีก 20% ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า จะเป็นความบกพร่องโดยสุจริต หรือจงใจโดยเจตนาให้มีการลดจำนวนห้องเรียนในภาคปกติ ของ ม.3 จะขึ้น ม.4 จนทำให้นักเรียนเก่าถูกตัดสิทธิ์และแทรกสิทธิ์ โดยระบบอันฉ้อฉลจำนวนมาก 

     "ผมประทับใจใน ครม.ปู 2 ของ ศธ. กับการเอาจริงเอาจังของ นายศักดา คงเพชร อดีต รมช.ศึกษาธิการ กับ ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตในอาชีวะศึกษา  สำหรับ ครม.ปู 3 ของ ศธ. ไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิดให้มี รัฐมนตรีทั้ง 2 คน มากำกับ ศธ. คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ และเท่าที่ทราบนายพงศ์เทพ เป็นอดีตผู้พิพากษา แล้วพรรคเพื่อไทย หมายมั่นปั้นมือให้มาดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะควบรองนายกฯ ด้วย และนายเสริมศักดิ์  พงษ์พาณิชย์ รมช.ศึกษาธิการ เคยเป็น อดีต รมช.มหาดไทย และที่แปลกใจทำไม รมว.ศึกษาธิการ จึงแบ่งงานให้ รมช.ศึกษาธิการ เกือบทั้งหมด ทั้ง สพฐ, อาชีวะ และ กศน. เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากฝากให้รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านได้ช่วยกันดูแลการศึกษาและปรามทุจริตคอร์รัปชัน ของ ศธ.ที่ตอนนี้มีมากกว่ากระทรวงอื่นๆ ไม่ใช่มาแค่สร้างภาพเท่านั้น" 
     นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องวิชาการจะสังเกตได้ว่า ศธ. เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของงบประมาณรายจ่ายต่อปีเกือบ 5 แสนล้านบาท ติดต่อกันมาหลายปีแล้ว แต่เหตุไฉนค่าการวัดมาตราฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (O-NET) จึงลดต่ำลงทุกปี เมื่อเทียบระดับสมองโดยรวมทุกด้านเฉลี่ยเด็กไทยก็ยังอยู่ในขั้นต่ำ และหากเปรียบเทียบกับค่าความโปร่งใส ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ปี 2554 ค่า CPI เท่ากับ 3.4 แต่ปี 2555 เท่ากับ 3.2 การจัดอันดับประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อปี 2554 ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 80 จาก 192 ประเทศ แต่มาปี  2555 ได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 88 จาก 192 ประเทศ เทียบได้กับประเทศ กรีช เปรู สังเกตได้ว่าตัวเลขการทุจริตของประเทศต่ำลง ในปริมาณที่เท่ากับค่ามาตราฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน O-NET ของเด็กไทย
     "เมื่อได้ทราบตัวเลขแล้ว ก็เป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันคิด และลงปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของชาติร่วมกัน จะเป็นภาระของคนใดคนหนึ่งไม่ได้  ในบทบาทของ ภตช. ไม่ใช่แค่ตรวจสอบการทุจริตเท่านั้น แต่พวกเราก็มีทีมงานในการแก้ไขปัญหาของชาติ ในเรื่องต่างๆ พร้อมแนวทางในการป้องกันและแก้ไข" 
     นายมงคลกิตติ์ ยังกล่าวด้วยว่าใน โอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2556 ผมในฐานะตัวแทนองค์กรภาคประชาชน ก็ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ที่มองเห็นและมองไม่เห็น อำนาจบารมีของบูรพมหากษัตริย์ไทย จงปกปักรักษาคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง และสิ่งสำคัญคือเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน นี่คือสิ่งที่เราคิดและกระทำอยู่เสมอมา

ที่มา : สยามรัฐ

แสดงความคิดเห็น