ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

ครู 3 รุ่น สะท้อนการศึกษา'เป็นคนยุคใหม่ อย่าลืมรากเหง้า'

          ครู เปรียบได้กับพ่อแม่คนที่สองของเด็กที่เดินเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน และช่วงบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความเคารพและความสำนึกในบุญคุณของครูบา อาจารย์ เนื่องในวันครู 16 มกราคมนี้ ประชาชาติธุรกิจจึงถือโอกาสร่วมพูดคุยกับครู 3 คน ที่จะมาให้มุมมองเกี่ยวกับประสบการณ์การสอน บอกเล่าเรื่องราวของนักเรียน รวมถึงสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาในแต่ละยุค
          ท่านแรกเป็นครูเกษียณวัย 74 ปี "สุนันทา อารีย์วงษ์" ครูที่อุทิศทั้งชีวิตการสอนให้แก่เด็กในโรงเรียนวัดสิงห์ (หรือโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ในปัจจุบัน) เขตบางขุนเทียน จ.กรุงเทพฯ มาตลอด 41 ปี ทำการสอนในหลายวิชา ทั้งวิชาสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และพระพุทธศาสนา
          ถึงวันนี้มีลูกศิษย์ลูกหาเฉียดหลักแสนคนที่จบออกไปประกอบอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่ตำรวจ ทหาร กกต. ผู้พิพากษา ไปจนถึงนักการเมือง
          ครูสุนันทา เล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนในสมัยก่อนให้ฟังว่า เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว นักเรียนจะเคารพครูมาก ไม่ก้าวร้าว ต่างจากเด็กปัจจุบันที่อ้างความเป็นประชาธิปไตยและแสดงกิริยาไม่สุภาพกับครู จึงเป็นความท้าทายของครูยุคนี้ที่จะเข้าถึงเด็กได้ แต่ถ้าเป็นหลักการสอน ของตนแล้ว จะเป็นการให้เนื้อหาสาระและการพูดคุยโต้ตอบกับนักเรียน
          "ครูจะเริ่มด้วยคำถามกระตุ้นให้เด็กตอบหรือให้เด็กเป็นผู้เล่าเรื่อง ส่วนครูจะช่วยเสริมและนำเข้าสู่บทเรียน หลังจากนั้นใครสงสัยอะไรจะเปิดโอกาสให้ถามและจะเหลือเวลาในคาบเรียนเล็กน้อย เพื่อสอนเด็กเรื่องการใช้ชีวิตและปัญหาส่วนตัว หรือบางครั้งถ้าสอนนักเรียนที่ใกล้จบก็จะช่วยค้นหาจุดเด่นของเด็กขึ้นมา เพื่อแนะนำแนวทางในการเรียนต่อและประกอบอาชีพ"
          ในขณะที่ปัญหาการศึกษาในบ้านเรานั้น ครูสุนันทามองว่า การเรียนการสอนของไทยยัดเยียดให้เด็กเรียนเยอะเกินไป เช่นเดียวกับครูที่มีการอบรมมากมายทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับนักเรียน รวมถึงในเรื่องหลักสูตรที่อยากให้วิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชา ที่เด็กทุกคนทุกระดับได้เรียน เพราะถึงแม้ว่าเด็กจะเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือการเร่งให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเออีซี แต่ขณะที่เรื่องของภาษาไทยหรือประวัติศาสตร์ เด็กไม่มีความรู้เลย
          "สุดท้ายอยากฝากให้ครูทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้คิดว่านักเรียนคือลูกหลาน ทำให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง ไม่ใช่สถานกักกัน ส่วนเด็กรุ่นใหม่อยากให้เคารพพ่อแม่ ครูอาจารย์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามเอกลักษณ์ของคนไทย ไม่ใช่นำวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา แล้วทิ้งวัฒนธรรมที่ดีของตนเอง"
          ท่านต่อมาเป็นครูที่ยังทำหน้าที่สอนอยู่ในปัจจุบัน และมีประสบการณ์การสอนมาแล้วกว่า 18 ปี "ศุลีมาศ บุญศรี" หรือครูอ้อม ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดดอนยอ จ.นครนายก บอกถึงความสนใจในอาชีพครูว่า ด้วยความที่คนทางบ้านส่วนใหญ่เป็นครูจึงเกิดความชอบ ประกอบกับช่วงที่ตนกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะนั้นมีโครงการคุรุทายาทที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.6 เข้าเรียนต่อคณะครุศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นครูทันที
          "จากประสบการณ์การสอนของตนพบว่า เด็กสมัยนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างมาก อันมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือเด็กเลือกเล่นเกมแทนการเล่นกีฬาหรือกลับบ้านไปช่วยงานผู้ ปกครอง ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ห่างเหิน เพราะครูมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอน เช่น ต้องเตรียมเอกสารสำหรับการประเมินโรงเรียน ทำให้เวลานอกการเรียนที่สามารถให้กับเด็กได้หายไป"
          โดยครูอ้อมยังเสนอแนะมุมมองในเรื่องนโยบายการศึกษาขณะนี้ว่า รัฐควรปรับนโยบายบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน อย่างการสอบโอเน็ตที่เป็นการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ใช้ข้อสอบเดียวกับนักเรียนทั้งประเทศ ซึ่งนักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาสจะเสียเปรียบเพราะไม่มีโอกาสไปติวหนังสือ เหมือนเด็กในเมือง และไม่ค่อยมีโอกาสทางการศึกษาด้านอื่นเท่าที่ควรด้วย
          "สิ่งที่อยากฝากไว้คือนักเรียนเป็นเหมือนอนาคตของชาติอย่างที่หลายคนพูดกัน ทั้งเขายังเป็นผู้สืบทอดความคิด วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นอนาคตของชาติด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้ว อยากให้เด็กคิดดี ทำดี และพูดดี หากทำ 3 อย่างนี้ได้แล้วทุกอย่างก็จะดีตาม"
          มาถึงคนสุดท้าย ว่าที่คุณครู อย่าง "อนุชา ทิพย์ลุ้ย" หรืออุ้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การประถมศึกษา) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในอีกไม่กี่เดือนนี้เขาจะได้เข้าไปฝึกปฏิบัติการสอนอย่างเป็นทางการใน โรงเรียนตามหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์
          อนุชาบอกว่า เมื่อเข้ามาเรียนปีแรกที่ มรภ.จันทรเกษม เขาได้ซึมซับถึงบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนของคณะศึกษาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีโอกาสไปสังเกตการสอนหลายครั้ง จึงเกิดความคิดว่าครูคือผู้ให้ การให้ที่ดีที่สุดคือการให้ ความรู้ และให้โอกาสทางการศึกษา
          โดยวิธีการสอนที่เป็นลักษณะเฉพาะของ "อนุชา" คือ การสอนแบบพี่สอนน้อง ซึ่งการสอนจะยึดหลักการให้ 6 ประการ คือ ให้ความรู้ ให้โอกาส ให้ความคิด ให้ชีวิต ให้กำลังใจ และให้อภัย
          "ผมมองว่าครูคือผู้ให้ ดังนั้นผมจะเป็นครูที่ให้ความรู้ คือไม่ปิดบังความรู้ ต่อมาคือให้โอกาสในการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางสังคม และเศรษฐกิจ ให้ความคิด คือ สอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น และแก้ไขปัญหาเป็น เพื่อให้เด็กนำความรู้ที่ได้ต่อยอด และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม"
          "ให้ชีวิต คือการปลูกฝังจิตวิญญาณ ให้มีอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตในทางบวก ให้กำลังใจ คือต้องเห็นอกเห็นใจเด็ก ถ้าเห็นเด็กมีปัญหาต้องปลอบใจให้กำลังใจ และให้อภัย การให้อภัยเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งของผู้ที่เป็นครู ครูต้องให้อภัยศิษย์เสมอ ไม่ว่าศิษย์จะกระทำความผิดมากน้อยเพียงใด"
          และสิ่งที่อนุชาฝากไว้ให้คิด ก็คือ "ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไอทีเข้ามาในชีวิตประจำวันในทุกเรื่อง หรือแม้กระทั่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งที่ไม่อยากให้ลืมคือ รากเหง้า วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ของไทย จึงอยากให้เด็กไทยและผู้ที่ เกี่ยวข้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้"
          ทั้งหมดคือสิ่งที่แม่พิมพ์และพ่อพิมพ์แห่งชาติอยากบอกในวันครูปีนี้


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 20 ม.ค. 2556--

แสดงความคิดเห็น