ข่าวการศึกษา
บทความการศึกษา
ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย
ข่าวสอบพนักงานราชการ
ข่าวสอบครูอัตราจ้าง
สอบธุรการ
ได้เวลา "ยกเครื่อง" การศึกษาไทย ก่อนจะไร้ที่ยืน..บนเวทีโลก : บทความ
ไม่ใช่เรื่องแปลก..ที่ผลวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ พ.ศ.2554 หรือ TIMSS 2011 ที่จัดโดย The International Association for the Evaluation of Educational Achievement หรือ IEA ในระดับชั้น ป.4 และ ม.2 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผลปรากฎว่าคะแนนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย อยู่ในระดับ "แย่"
เนื่องจากผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ในปีก่อนๆ เด็กไทยก็มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำไม่แตกต่างกัน
ซึ่ง การวิจัยครั้งนี้มีประเทศต่างๆ จากทั่วโลกเข้าร่วมวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ถึง 52 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล เบลเยี่ยม อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เยอรมัน เดนมาร์ก ไต้หวัน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการวิจัยคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้น ป.4 ซึ่งมี 52 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประเมิน โดยไทยเข้าร่วมการประเมินครั้งแรก พบว่า ไทยมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 458 คะแนน อยู่อันดับที่ 34 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 472 คะแนน อยู่อันดับที่ 29 โดยประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์ คือ สิงคโปร์ 606 คะแนน ส่วนประเทศที่วิชาวิทยาศาตร์สูงสุด คือ เกาหลีใต้ 587 คะแนน
เมื่อพิจารณาในภาพรวม ประเทศไทยถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับแย่ในวิชาคณิตศาสตร์ (poor) ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับพอใช้ (Fair)
เมื่อจำแนกตามรายสังกัด พบว่า
โรงเรียนสาธิต คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 540 คะแนน และวิทยาศาตร์ เฉลี่ย 562 คะแนน สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติที่กำหนดไว้ 500 คะแนน
โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 502 และวิทยาศาตร์ เฉลี่ย 522 คะแนน
โรงเรียนเอกชน คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 487 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 509 คะแนน
โรงเรียนสังกัดเทศบาล/ ท้องถิ่น คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 476 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 495 คะแนน
และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 446 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 456 คะแนน ซึ่งโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) และ สพฐ.มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ
แต่ เมื่อเปรียบเทียบตามภูมิภาค นักเรียนในกรุงเทพฯ มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติทั้ง 2 วิชา ส่วนนักเรียนภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติในวิชาวิทยาศาสตร์ และนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนบน มีคะแนนคณิตศาสตร์ต่ำที่สุด และภาคใต้มีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำที่สุด
ส่วน ผลการประเมินวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของชั้น ม.2 มีประเทศที่เข้าร่วมประเมิน 45 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 427 คะแนน อยู่อันดับที่ 28 และวิทยาศาสตร์ 451 คะแนน อยู่อันดับที่ 25 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2550 พบว่า ค่าเฉลี่ยลดลงทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเมื่อปี 2550 คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 441 คะแนน และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 471 คะแนน โดยการประเมินในปี 2554 ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์ คือ เกาหลีใต้ เฉลี่ย 613 คะแนน ส่วนวิทยาศาตร์ ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สิงคโปร์ 590 คะแนน ขณะที่ประเทศไทยเมื่อพิจารณาในภาพรวม ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับแย่ (poor) ทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
เมื่อพิจารณาคะแนนจำแนกตามรายสังกัด พบว่า โรงเรียนสาธิต คณิตศาสตร เฉลี่ย 554 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 600 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 552 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 606 คะแนน แต่ทั้ง 2 วิชายังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติซึ่งอยู่ที่ 500 คะแนน ส่วนโรงเรียนสังกัด สพฐ.มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ 440 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 445 คะแนน ขณะที่วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 464 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 474 คะแนน สังกัดกรุง กทม. คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 433 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ที่ได้ 381 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 457 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ได้ 424 คะแนน สังกัดเทศบาล/ ท้องถิ่น คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 424 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 474 คะแนน วิทยาศาตร์ เฉลี่ย 450 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 501 คะแนน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 419 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 504 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 441 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 528 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่จำแนกตาม ภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออก และปริมณฑล มีคะแนนสูงขึ้นทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยภาคตะวันออก คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 495 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 427 คะแนน วิทยาศาสตร์ 508 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 466 คะแนน ส่วนปริมณฑล คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 481 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 436 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 506 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 472 คะแนน ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีคะแนนเฉลี่ยลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน คะแนนลดลงจนน่าเป็นห่วง โดยคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 415 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 483 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 441 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 510 คะแนน
นอกจากนี้ ผลวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ยังได้สำรวจด้านครูผู้สอน พบว่า ทั้งระดับชั้น ป.4 และ ม.2 ส่วนใหญ่ครูไทยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ แต่ผลการประเมินที่ออกมากลับต่ำกว่าสิงคโปร์ค่อนข้างมากทั้งวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประกอบกับครูไทยมีความมั่นใจในการสอน และความพร้อมในการเตรียมการสอนทั้ง 2 วิชา อยู่ในระดับต่ำ
"นายปรีชาญ เดชศรี" รองผู้อำนวยการ สสวท.ระบุ ว่า เมื่อดูภาพรวมของการประเมินนักเรียนชั้น ป.4 ทั่วประเทศ พบว่า คณิตศาสตร์ 88% มีความสามารถตั้งแต่ระดับที่ต่ำมากไปจนถึงระดับปานกลาง หรือคะแนนต่ำกว่า 400-500 คะแนน มีเพียง 12% ที่คะแนนอยู่ในระดับสูงถึงระดับก้าวหน้า หรือมีคะแนนสูงกว่า 550 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์ 80% มีความสามารถตั้งแต่ระดับต่ำมากไปจนถึงระดับปานกลาง และมีเพียง 20% มีคะแนนในระดับสูงถึงระดับก้าวหน้า นอกจากนี้่ เนื้อหาหลักสูตรคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยตรงกับเนื้อหาการประเมิน 100% แต่ไทยจัดการเรียนการสอนได้สำเร็จเพียง 30% ขณะที่สิงคโปร์เนื้อหาตรงการประเมินเพียง 70% แต่จัดการเรียนสำเร็จ 100%
ดัง นั้น สิ่งที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ ก็คือการยกคุณภาพของเด็กไทยทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั้งประเทศ ตั้งแต่ปรับการเรียนการสอนของครู ให้เด็กรู้จักกระบวนคิดมากกว่าเน้นท่องจำเนื้อหา ไม่เช่นนั้นความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย จะค่อยๆ ต่ำลงเรื่อยๆ เพราะจะเห็นว่าจากการประเมินในครั้งนี้ "สิงคโปร์" และ "เกาหลีใต้" มีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงที่สุด และสูงมากกว่าหลายๆ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกอย่าง "ฟินแลนด์" ด้วยซ้ำ
ประเด็นเหล่านี้ "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มอบหมายให้ "นายภาวิช ทองโรจน์" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปวางแผนยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยทั้งประเทศ โดยเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนา "หลักสูตร" และการพัฒนา "ครู" เพราะถือเป็น "หัวใจ" สำคัญอย่างยิ่ง
ซึ่งขณะนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อร่วมกันจัดทำโรดแม็ป "การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ภายในเดือนมกราคม 2556
โดย เบื้องต้นคณะทำงานได้เตรียมรื้อหลักสูตรใหม่ อย่างการกำหนดโครงสร้างหลักสูตรที่กำหนดไว้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และการจัดค่าน้ำหนักการเรียนในแต่ละช่วงชั้นเท่ากัน อาจไม่เหมาะสม และเมื่อศึกษารูปแบบการจัดทำหลักสูตรในหลายๆ ประเทศ ยังพบว่าในระดับชั้นประถมศึกษา จะเน้น "เนื้อหา" น้อย แต่จะเน้นส่งเสริมการเป็นประชากรที่ดี เพื่อให้เนื้อหาหลักสูตรที่ปรับแล้วมี "มาตรฐานนานาชาติ" ด้วย ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.คาดว่าจะกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปีการศึกษา 2556 และเริ่มใช้ได้ในปีการศึกษา 2557
ทั้งนี้ทั้งนั้น ข่าวร้ายเกี่ยวกับผลการประเมินความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยยังไม่ทันซา
ล่าสุด มี "ข่าวร้าย" เกี่ยวกับแวดวงการศึกษาของประเทศไทยอีก เมื่อ "นายแฮรี่ แอนโทนี่ พาทรีนอส" ผู้จัดการฝ่ายการศึกษา สายงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก (World Bank) ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง "ความเป็นอิสระ และความรับผิดชอบของโรงเรียนในประเทศไทยต่อการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน และต่อความต้องการของสังคม" ว่าจากการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการตอบแบบสอบถามของโรงเรียนในประเทศไทย 200 แห่ง ในปี 2554 โดยเชื่อมโยงกับผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ปี 2552 พบว่า โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และในเมือง มีระบบการศึกษาที่ดี ผิดกับโรงเรียนในชนบทที่มีระบบการศึกษาที่น่าห่วงมาก และยังพบว่า "โรงเรียนขนาดใหญ่" มีคะแนน PISA สูงกว่า "โรงเรียนขนาดเล็ก" มาก ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนา และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กให้มีมาตรฐานการศึกษาสูงขึ้น
งานวิจัย ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า โรงเรียนทั่วโลกที่มีคะแนน PISA สูง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีความอิสระ และมีความรับผิดชอบควบคู่กันไป แต่ประเทศไทยยังอยู่ในระบบปิด ทั้งเรื่องความอิสระด้านงบประมาณ เพราะ ศธ.ยังเป็นผู้ควบคุมเงินเดือนครู ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนไม่สามารถเลือกครู และรักษาครูเก่งๆ ได้ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมีส่วนร่วมกับโรงเรียนน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้โรงเรียนพัฒนา
ซึ่งงานวิจัยยัง ได้เสนอแนะวิธีที่จะช่วยให้คะแนน PISA ของประเทศไทยสูงขึ้น โดยจะต้องส่งเสริมความเป็น "อิสระ" ของโรงเรียน และสร้าง "ภาวะผู้นำ" ให้กับผู้บริหารโรงเรียนมากขึ้น
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น "โจทย์" ใหญ่ และเป็น "การบ้าน" ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้เกี่ยวข้อง จะต้อง "เปิดตา", "เปิดหู" และ "เปิดใจ" รับฟังอย่างยิ่ง...
มีความ "จริงจัง" และ "จริงใจ" ที่จะ "พัฒนา" และยก "คุณภาพ" มาตรฐานการศึกษาไทย และเด็กไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ และพร้อมที่เข้าสู่สนามการแข่งขันระดับโลกในทุกรูปแบบ...
ก่อนที่ "ไทย" จะไม่เหลือที่ยืน..บนเวทีโลก!!
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา
ป้ายกำกับ:
ข่าวการศึกษา