นายวิชัย แสงศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 5
เปิดเผยว่า กรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคล โดย จ.อุบลราชธานี
ระดับประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี และระดับมัธยมศึกษา
โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช นั้นเป็นเรื่องดี
เพราะโรงเรียนจะได้คล่องตัวทั้งงานวิชาการ งานบุคคล งบประมาณ
ในการพัฒนาคุณภาพ และมีมาตรฐาน ดำเนินการได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม
สิ่งที่ต้องพึงระวังคือการระดมทรัพยากร
เพราะจะทำให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมจะได้รับการพัฒนา
ไม่เต็มที่ เด็กไม่มีโอกาสได้เข้าเรียน
และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องคือโรงเรียนต้องสร้างความเข้าใจกับผู้
ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน ซึ่งต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจน
รู้ทิศทางในการพัฒนาได้เต็มที่
โดยการคัดเลือกและกำหนดบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องมีความสมดุล
นายประยงค์ แก่นลา ผู้อำนวยการโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช กล่าวว่า
การเป็นโรงเรียนนิติบุคคลจะทำให้โรงเรียนพัฒนาได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
มีเป้าหมายที่จะสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีให้กับนักเรียน
นักเรียนสามารถประสบความสำเร็จหลังจากจบการศึกษาตามหลักสูตรการเรียนการสอน
การบริหารงานจะได้คล่องตัว
อยู่ในความรับผิดชอบการบริหารของผู้อำนวยการโรงเรียนโดยตรง
จะได้จัดระบบธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องมีภาพรวมเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์
และยกระดับคุณภาพทางการศึกษาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม
กฎหมายบางตัวยังไม่เอื้อต่อการเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน โดยยังไม่ขาดจาก
สพฐ.เหมือนในต่างประเทศ ส่วนที่กังวลเรื่องการหาประโยชน์จากผู้ปกครอง
หรือเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะในการรับนักเรียนนั้น
หากหาประโยชน์เข้ากระเป๋าเป็นการส่วนตัวคงทำไม่ได้
นายเรืองเดช เขจรศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า
การให้โรงเรียนรัฐเป็นนิติบุคคล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือโรงเรียนหลุดจากระบบราชการ
มีอิสระและเสรีภาพจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ ทำให้การบริหารงบประมาณคล่องตัว
ให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียนบริหารจัดการ
รวมทั้งทำให้คณะกรรมการสถานศึกษาทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ชัดเจน
ส่วนข้อเสียที่ต้องพึงระวังคือ ทำให้โรงเรียนใช้ฐานะสังคม รายได้
และอาชีพของผู้ปกครองเป็นตัวกำหนดในการคัดเลือกนักเรียนที่มีความพร้อมเข้า
โรงเรียนได้ ขณะเดียวกันเด็กที่ฐานะทางสังคมไม่ดี แต่ผลการเรียนสูง
จะไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน
อาจทำให้โรงเรียนนิติบุคคลกลายเป็นโรงเรียนชั้นนำของผู้ปกครองและนักเรียน
ที่มีความพร้อม เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการสถานศึกษา
และผู้บริหารสถานศึกษา จะทำให้เห็นช่องว่างทางสังคมมากขึ้น
นางวรจิตร์ เปียกบุตร ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า
การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล คณะกรรมการสถานศึกษา
ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียนนั้น
คณะกรรมการสถานศึกษามีสิทธิในการพิจารณาทุกเรื่อง เช่น
กำหนดค่าเล่าเรียนที่อาจจะแพงขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน
และคณะกรรมการสถานศึกษา อาจจะเล่นพรรคเล่นพวกกันได้ ทำให้ระบบธรรมาภิบาล
การมีสำนึกรับผิดชอบ ความโปร่งใส การตอบสนอง ประสิทธิผล และประสิทธิภาพ
ความเท่าเทียมกันจะหายไป
--มติชน ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--