เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กบม.)
เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุม
กบม.มีมติปรับเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานเงินรายได้
มหาวิทยาลัย เพื่อให้เหมือนกับที่รัฐบาลปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ
โดยจะใช้สูตรคำนวณการขึ้นเงินเดือนสูตรเดียวกับของคณะกรรมการข้าราชการ
พลเรือน (ก.พ.) คือ ถ้า ก.พ.ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการจาก 10,000 บาท เป็น
15,000 บาท มธ.ก็จะขึ้นเพิ่มให้ข้าราชการจากฐาน 15,000 บาท เพิ่มไปอีก 1.7
เท่าของเงินเดือนข้าราชการ
นายสมคิดกล่าวต่อว่า ทั้งนี้
มธ.จะรอให้
ก.พ.จ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการตามมติการขึ้นเงินเดือนของรัฐบาลก่อน
คือหากรัฐบาลโอนเงินให้ข้าราชการในวันที่ 1 มีนาคม 2556
มธ.ก็จะจ่ายเงินให้พนักงานมหาวิทยาลัยทันที โดยจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคม 2555 สำหรับฐานเงินเดือนใหม่ของพนักงานมหาวิทยาลัย มีดังนี้
สายวิชาการระดับปริญญาตรีจะได้ประมาณ 17,520 บาท ปริญญาโทประมาณ 23,720 บาท
และ ปริญญาเอก ประมาณ 32,300 บาท
และจะมีการย้อนหลังไปถึงพนักงานมหาวิทยาลัยที่เข้ามาก่อนด้วย
ส่วนผู้ที่เข้ามาใหม่จะรับอัตราใหม่ทันที
ด้าน นพ.เฉลิมชัย
บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า
จากกรณีสำนักงบประมาณเห็นชอบในหลักการเยียวยากรณีพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำ
งานอยู่ก่อนแล้ว ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานที่ได้รับการบรรจุใหม่
โดยสำนักงบประมาณได้ประสาน ก.พ.และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
เพื่อรับทราบรายละเอียดของสถาบันการศึกษาอื่นๆ อย่างกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ
(มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล่าสุด ทาง
สกอ.จึงนัดพบตัวแทน มรภ. มทร. มหาวิทยาลัยรัฐ และสำนักงบประมาณร่วมหารือ
ได้ข้อยุติว่า
เห็นชอบร่วมกันที่จะเยียวยาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย
ที่จ้างด้วยเงินแผ่นดิน
แต่มหาวิทยาลัยก็จะไปดูแลพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนที่จ้างด้วยเงินรายได้
ให้ได้รับการเยียวยาเหมือนกับพนักงานที่จ้างด้วยเงินแผ่นดิน
ส่วนงบประมาณที่รัฐบาลจะส่งมาเยียวยานั้น
จะให้เฉพาะกลุ่มที่จ้างด้วยเงินแผ่นดินเท่านั้น
แต่มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะปรับเยียวยาให้กับพนักงานทุกคนทั้งพนักงานที่จ้าง
ด้วยงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณรายได้ ส่วนอัตราการเยียวยา
จะใช้การเยียวยาในอัตราของ ก.พ.
ซึ่งเป็นกลุ่มของข้าราชการที่มีการเยียวยาไปแล้วเป็นฐานคิด
ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยใช้สูตรการจัดสรรงบประมาณ โดยฝ่ายสนับสนุน
ได้รับ 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ ส่วนสายวิชาการ 1.7 เท่า
ซึ่งกลุ่มข้าราชการได้รับการเยียวยาอย่างไร
ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยก็จะได้เหมือนกัน
"สำนักงบประมาณจะให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งกลับไปคิดตัวเลขเพื่อสำรวจว่าสถาบัน
ตัวเองมีจำนวนพนักงานเท่าไรที่ต้องได้รับการเยียวยา จากนั้นนำรายละเอียดส่ง
สกอ.และสำนักงบประมาณภายในสิ้นเดือนธันวาคม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(ครม.) เมื่อมติ ครม.ผ่าน จึงจะมีการจัดสรรงบประมาณการเยียวยา
และจะเยียวยาย้อนหลังให้พนักงานมหาวิทยาลัยไปตั้งแต่ 1 มกราคม 2555"
อธิการบดี มศว กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน