หวั่นฉันทนาเฮโลกลับบ้านหลังปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ
โรงงาน นับร้อยในนิคมอุตสาหกรรมเร่งปรับค่าจ้างขึ้นป้าย 500 บาท/วัน
ไม่รวมเบี้ยขยัน หวังซื้อใจให้อยู่ต่อ “สยามอินเตอร์ล็อกเทค”
จ้างครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ เพิ่มทักษะรับเออีซี “แพนเอเชีย”
กัดฟันควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอีกเดือนละ 1.5 ล้าน “พรชัย อินเตอร์เนชั่นแนล”
แขวะ! ปัญหาวัตถุดิบน่ากลัวกว่าค่าแรง ด้านธุรกิจโรงแรมเครือ “เกษมกิจ
โฮเทลส์” สวนกระแส แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ค่าแรงพุ่ง
เปิดรับผู้เกษียณอายุแทน
ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายขึ้นค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 300
บาทเหมือนกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556
ภายหลังดำเนินการนำร่องไปก่อน 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555
ที่ผ่านมา คือจังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดปทุมธานี
จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ
จากอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 215 บาท/วัน ปรับเพิ่มเป็น 301 บาท/วัน
และจังหวัดภูเก็ต จาก 221 บาท/วัน ปรับเพิ่มเป็น 309 บาท/วัน
“สยามธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตามนิคมอุตสาหกรรมพบว่า
หลายโรงงานเริ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายได้และสวัสดิการให้มากขึ้น
เพื่อดึงแรงงานไม่ให้ย้ายกลับต่างจังหวัด
ยกตัวอย่างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครหลายแห่ง
ประกาศชัดเจนว่ารายได้ขั้นต่ำ 500 บาท/วัน
นายสุวิชัย เจนธนอรรถกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์ล็อคเทค
จำกัด ผู้ผลิตกุญแจล็อคเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกยี่ห้อ ‘Cyber lock’ เปิดเผย
“สยามธุรกิจ” ว่า
ปกติแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครก็มีการหมุนเวียนเข้าออกถี่อยู่แล้ว
จากโรงงานนี้ย้ายไปโรงงานนั้น จากโรงงานนั้นย้ายมาโรงงานนี้
ทั้งไปสมัครเองบ้าง เพื่อนฝูงแนะนำกันไปบ้าง เพราะฉะนั้น
ถ้าโรงงานหนึ่งประกาศรายได้ขั้นต่ำเท่านี้
โรงงานอื่นที่ต้องการแรงงานก็ต้องให้เท่ากันหรือมากกว่า
ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครไปทำ
นายสุวิชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของสยามอินเตอร์ล็อคเทค
ถือเป็นโรงงานแรกๆที่นอกจากจะให้ค่าแรงงานในระดับสูงแล้ว
ยังมีเบี้ยขยันอีกเดือนละ 1 พันบาท ไม่ใช่เพราะต้องการแข่งขันกับใคร
แต่ดูที่ความเหมาะสม นอกจากนี้
ยังมีการจ้างครูชาวฟิลิปปินส์มาสอนพิเศษภาษาอังกฤษอาทิตย์ละวัน
เพื่อให้พนักงานพัฒนาศักยภาพด้านภาษา
เนื่องจากเรากำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ถ้าสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ลำบาก
“นโยบายด้านแรงงานของเราคือ เรารักเขา เขารักเรา ไม่ว่าใครก็ตาม
ถ้าอยู่ที่ไหนแล้วมีความสุข ก็ไม่อยากย้ายไปที่ไหน” นายสุวิชัย กล่าว
ด้านนายอนันต์ ไตรประคอง ผู้จัดการโรงงาน บริษัท แพนเอเชีย (1981) จำกัด
โรงงานผลิตอาหารทะเลรายใหญ่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า
เอกชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรแปรรูปซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ใหญ่โตหรือมีกำไรมากมาย
เหมือนธุรกิจยานยนต์ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เห็นด้วยก็ต้องทำตาม
เนื่องจากรัฐบาลประกาศเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
นายอนันต์กล่าวต่อไปว่า ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี จากเดิมจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ
172 บาท/วัน เมื่อปรับเป็น 300 บาท/วันเท่ากับว่าปรับขึ้นเกือบเท่าตัว
ในส่วนของโรงงานคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.5
ล้านบาทต่อเดือน หรือ 18-20 ล้านบาทต่อปี
ก็ต้องไปเน้นลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นแทน แต่คงไม่มีการปรับลดคนงาน
เพราะปัจจุบันคนงาน 500 คนมีงานล้นมืออยู่แล้ว ถ้าต้องปรับลดคน
ก็จะทำให้คนงานต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้า
สำหรับการไหลของแรงงานจากส่วนกลางกลับท้องถิ่นนั้น
นายอนันต์เชื่อว่าจะมีคนงานไหลกลับบ้านจำนวนมาก เพราะถ้าค่าแรงเท่ากัน
ทุกคนก็อยากกลับมาอยู่บ้าน เนื่องจากค่าครองชีพถูกกว่า
ไม่ต้องเสียค่าห้องเช่า ได้อยู่ใกล้ญาติพี่น้อง
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่โรงงานในส่วนกลางจะขยับรายได้ต่อวันเพิ่มขึ้น
เพื่อดึงแรงงานเอาไว้
ขณะที่นายพรชัย ชื่นชมลดา ประธานกรรมการ บริษัท พรชัย อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีรายใหญ่ เปิดเผยว่า ค่าแรง 300 บาทวันนี้ถือว่าธรรมดา
ไม่มีผลกระทบมากนัก
โดยเฉพาะในธุรกิจอัญมณีซึ่งใช้แรงงานฝีมือปัจจุบันก็จ่ายแพงกว่าวันละ 300
บาทอยู่แล้ว
สิ่งที่น่ากลัวกว่าค่าแรงคือวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่รู้ว่าสหรัฐอเมริกา
กับสหภาพยุโรปจะฟื้นตัวเมื่อไหร่
รวมถึงวัตถุดิบที่นับวันจะหายากขึ้นและแพงมากขึ้น
นอกจากนี้อุตสาหกรรมด้านบริการอย่างธุรกิจโรงแรมก็ได้รับผลกระทบจากการปรับ
ขึ้นค่าแรงและแรงงานขาดแคลนเป็นอย่างมาก ล่าสุดกลุ่มธุรกิจโรงแรมในเครือ
“เกษมกิจ โฮเทลส์” ได้ประกาศเปิดรับผู้เกษียณอายุจำนวนมาก
เข้าร่วมงานกับเครือโรงแรม กว่า 15 แห่งทั่วประเทศ
เนื่องจากที่ผ่านมาพนักงานวัยหนุ่มสาวมีการเปลี่ยนงานกันบ่อย
ประกอบกับในหลาย ๆ
ภาคธุรกิจมีการแข่งขันกันปรับขึ้นค่าแรงเพื่อช่วงชิงแรงงานกันเป็นจำนวนมาก
โดยพนักงานที่จะรับนอกเหนือจากงานด้านบริการแล้ว งานในแผนกอื่น ๆ
ก็มีความต้องการเช่นกัน อาทิ บัญชี ครัว ฝ่ายการตลาด หรือสถาปนิก เป็นต้น
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ระบุถึงการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส.อ.ท.
ประเด็นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันว่า
จากการที่เอกชนต้องแบกรับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมากแล้ว
แต่การจะปรับขึ้นอีก 40% เป็นเรื่องที่ธุรกิจรับไม่ไหว
โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม ที่เป็นธุรกิจจำนวนมากของประเทศ
แต่หากถามว่าตอนนี้มีโรงงานปิดไปเยอะแล้วหรือยัง คงต้องตอบว่าไม่มาก
เพราะไม่ว่าใครก็ต้องกัดฟันพยายามพยุงธุรกิจของตนให้อยู่รอด
ที่มา : สยามธุรกิจ