ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

รมว.ศธ.เผยแยกบัญชีเงินเดือนอาจารย์ ให้เทียบกับข้าราชการครูยาก


        นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีกลุ่มตัวแทนข้าราชการอาจารย์ และเจ้าหน้าที่สังกัดมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่ออาจารย์ที่ร่วมสนับสนุนเรียกร้องขอให้ปรับเงินเดือน ของข้าราชการอาจารย์ในสายมหาวิทยาลัย ให้เท่ากับครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะ ปัจจุบันได้เงินเดือนน้อยกว่า ว่า เรื่องนี้ ศธ.กำลังพิจารณาว่าข้อมูลที่กลุ่มข้าราชการอาจารย์ให้มา จะดำเนินการได้อย่างไร และจะต้องดูว่ามีข้าราชการอาจารย์ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนเฉพาะ ข้าราชการครูในสังกัด สพฐ.มากแค่ไหน แต่คิดว่าเรื่องนี้คงไม่ต้องไปปรับแก้กฎหมาย ทั้งนี้ ทราบมาว่าในการปรับเพิ่มเงินเดือนครูในสังกัด สพฐ. 8% ที่ผ่านมา เพียงแต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนด้วย ฉะนั้น หากข้าราชการที่เคยได้เงินเดือนเท่ากันในขณะนั้นเมื่อเทียบกับข้าราชการครู แล้ว จะทำให้ข้าราชการครู สพฐ.ได้เงินเดือนมากกว่า
          "ส่วนที่ข้าราชการอาจารย์ได้เสนอให้แยกบัญชีเงินเดือนของข้าราชการในสถาบัน อุดมศึกษา ออกจากบัญชีเงินสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น คงต้องไปดู และคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องในระยะยาว เพราะตอนนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากส่วนใหญ่ไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยกันเยอะแล้ว" นายพงศ์เทพกล่าว
          นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ ศธ.จะต้องมาดูแลบุคลากรทุกแท่ง และทั้งระบบให้เท่าเทียมกัน อย่างเช่นเงินเดือน ไม่เช่นนั้นถ้าใครได้รับผลประโยชน์ที่แตกต่าง หรือน้อยกว่า จะออกมาเรียกร้องตลอด หรือเรียกร้องสิทธิจนไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการศึกษา
          นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องนำเข้าหารือในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) หากจะปรับเงินเดือนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย ขณะเดียวกันต้องพิจารณาบริบทอื่นๆ ให้รอบด้าน รวมถึงดูความเหมาะสมว่าอะไรที่ควรจะต้องเพิ่ม ขณะเดียวกันจะต้องถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงาน ก.พ.และสำนักงบประมาณ เพราะทุกอย่างต้องเข้ามาอยู่ในระบบ แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก
          "การปรับเพิ่มเงินเดือนครูในสมัยนั้น ถือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะข้าราชการครู ไม่ร่วมข้าราชการประเภทอื่นๆ เพราะนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในสมัยนั้น มีนโยบายจะยกระดับวิชาชีพครูให้มีเงินเดือนเทียบเท่ากับข้าราชการอื่นๆ จึงปรับเงินเดือนครูเพิ่มอีก 8% เพราะเข้าใจว่าครูได้รับเงินเดือนน้อย ส่วนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษานั้น ถ้าจะปรับเพิ่มคงลำบาก เพราะขณะนี้ ก.พ.อ.ไม่มีอัตราข้าราชการแล้ว ดังนั้น หากเพิ่มให้ข้าราชการ ก็ต้องเพิ่มให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย ส่วนที่บอกว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยไปสมัครเป็นครูประถมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น เชื่อว่าเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะหากเป็นครูจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูก่อน" นพ.กำจรกล่าว


          --มติชน ฉบับวันที่ 9 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

แสดงความคิดเห็น