สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค. : www.otep.go.th)
ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลชีวิตครูทั่วประเทศ
ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีดำรงตนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดย 8 ปีที่ผ่านมา
สกสค. ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดสวัสดิการ
รวมถึงให้ความช่วยเหลือเพื่อนครู ในยามที่ประสบกับภาวะยากลำบาก
ดังนั้นนโยบายการบริหารงานของผู้กุมบังเหียนหลักอย่างเลขาธิการ สกสค.
จึงถือเป็นเข็มทิศที่จะช่วยบอกทางอนาคตของครูและบุคลากรทางการศึกษา
ทั่วประเทศว่าจะเป็นไปในทิศทางใด นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการ สกสค.
คนใหม่ จะมาบอกถึงนโยบายที่จะดูแลคุณภาพชีวิตเพื่อนครูในอีก 4 ปีจากนี้
เลขาธิการคณะกรรมการสกสค. กล่าวว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ
สกสค.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 โดยมีนโยบายการทำงานทั้งหมด 5 ด้าน คือ
ด้านที่ 1
มุ่งการสร้างองค์กรให้เข้มแข็งโดยเฉพาะจะมุ่งเน้นเรื่องการบริหารงานตามหลัก
ธรรมาภิบาล เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องการมีส่วนร่วม และการตรวจสอบ
ความโปร่งในในทุกขั้นตอนของการทำงาน เนื่องจากองค์กรของเราตั้งขึ้นมา 8 ปี
เป็นองค์กรที่มีครู คณาจารย์ และบุคลากร
ทางการศึกษาทุกสังกัดเข้ามารับบริการจำนวนมาก ถึง 1.3 ล้านคน ทำให้ 4
ปีจากนี้เป็นช่วงเวลาที่ สกสค.ต้องปรับตัวครั้งใหญ่
ที่จะเน้นการตั้งรับและมุ่งก้าวไปสู่ข้างหน้า ด้านที่ 2
เรื่องการจัดสวัสดิการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน มั่นคง
และเน้นการตั้งตัวได้ของครู โดยจะให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
เช่นในนโยบายเรื่องการตั้งตัวได้ หรือการเข้าถึงแหล่งทุน ในอดีตเวลา
ครูจะไปกู้เงินมาเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือสร้างฐานะครอบครัว มักจะถูก
โจมตีหรือถูกมองในภาพลบถึงลบมาก กว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
ทั้งที่ภาคประชาชนอื่น ๆ ใช้เครดิตตรงนี้มากมาย ซึ่งเป็นข้อ
กล่าวหาที่ค่อนข้างหนัก และเป็นวาทกรรมที่จะต้องแก้ไข
ว่าครูก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ดังนั้น นโยบายของรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังแรก รถคันแรก หรือนโยบายที่ส่งเสริมให้คนตั้งตัวได้
ครูก็น่าจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการดูแลในฐานะภาคประชาชน
ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าครูที่กู้เงินจากโครงการสวัสดิการเงินจำนวนมาก
นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น อาทิ
ไปซื้อที่ดินทำสวนยางพาราเพิ่มรายได้ให้ตัวเอง
โดยไม่ได้ไปเบียดบังเวลาสอนเด็กนักเรียน
เรื่องที่ 3
เดินหน้ายกย่องเชิดชูเกียรติครู ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง
โดยนำครูที่อยู่ชายแดน อยู่ในป่าในเขา ประมาณ 900 คนมาเชิดชูเกียรติ
แต่ปีนี้จะเน้นเรื่องของคุณธรรมนำวิชาชีพ
คือจะทำโครงการนำร่องพาครูไปไหว้พระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย
ถือเป็นการเริ่มต้นจุดแสงสว่าง นำครูที่ว่า
เป็นคนใฝ่รู้และมีจิตใจเป็นธรรมะ ประมาณ 99 คน
ไปไหว้พระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย ทั้งสถานที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน
ไปแสวงบุญเหมือนกับที่หลาย ๆ ศาสนาทำกัน และถือเป็นการนำร่องปีแรกก่อน
ด้านที่ 4 การส่งเสริมการวิจัย
โดยเฉพาะงานวิจัยที่จะสามารถนำมาพัฒนาองค์กรได้จะเป็นจุดเน้น 8
ปีที่ผ่านมาเราทำงานวิจัยด้านบุคลากรและสวัสดิการแล้ว ประมาณ 30 เรื่อง
ปีนี้จะต่อยอดและสังเคราะห์ มาเป็นองค์ความรู้นำพาองค์กรเราไปข้างหน้า
และ 5 จะส่งเสริม เรื่องการผลิตสื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐาน
โดยจะมอบนโยบายให้องค์การค้าฯ เป็นผู้นำการผลิตสื่อสู่อาเซียน
ขณะที่ปัญหาขององค์การค้าฯ เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมายาวนาน
ในเรื่องของภาวการณ์ขาดสภาพคล่อง
การเปิดตลาดเข้าไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายตรงนี้จะได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม
ภายใน 4 ปีนี้ และถ้าโอกาสเอื้ออำนวย เราก็จะพยายามพัฒนาองค์การค้าฯ
สู่การเป็นผู้นำในการผลิตสื่อ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้ได้
ในส่วนของการดูแลครู ทั้งใน 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องประสบกับปัญหาความไม่สงบ นั้น เป็นเรื่องที่ทาง
สกสค.ให้ความสำคัญมาก โดยที่ผ่านมา
สกสค.ให้ความช่วยเหลือเพื่อนครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รายละ 5
แสนบาท เป็นเงินที่ให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข คนที่เจ็บป่วยจะมีเงินเยียวยา
ไปเยี่ยมเวลาที่เจ็บป่วย ส่วนลูกหลานจะให้ทุนการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี
และถ้าประสงค์จะมาทำงานกับ เราก็ยินดีที่จะรับ
ส่วนสำคัญที่สุดที่กำลังมองไปในอนาคต คือ
การดูแลสุขภาพครูที่อยู่ในระบบหรือนอกระบบทั้งหมด ว่าจะดูแลครูอย่างไร
ขณะที่หลายฝ่ายให้เราผลิตเด็กที่มีคุณภาพ
แต่ด้านสุขภาพของครูกลับต้องช่วยเหลือตัวเองตลอดเวลา ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมา
ได้จัดรถโมบายเข้าไปดูแลตรวจสุขภาพครูถึงโรงเรียน
แต่อนาคตจะต่อยอดสร้างสถานพยาบาลครูในสี่ภูมิภาค
เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขว่า
ถ้าวันหนึ่งเราสามารถตั้งโรงพยาบาลประจำใน 4 ภูมิภาคได้
ครูก็จะสามารถเดินทางมารับการดูแลเรื่องสุขภาพ และไม่จำกัดเฉพาะครูเท่านั้น
รวมไปถึงญาติ พี่น้องและประชาชนทั่วไปก็สามารเข้ารับการดูแลด้วย
โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ของแนวทางดังกล่าว
แล้ว รวมถึงวางเป้าหมายว่าจะให้ทุนลูกหลานของครู
เพื่อไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ พยาบาล
และรับกลับเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลดังกล่าวด้วย
แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของอนาคต และต้องใช้เวลา
"ผมมองว่าปัญหาเรื่องหนี้สินครูขณะนี้เบาบางลง
แต่ปัญหาเรื่องวาทกรรมว่าครูมีหนี้สินล้นพ้นตัวยังไม่เบาบางลง
เหมือนวาทกรรมที่จองจำวิชาชีพเรามาตลอด
ทั้งที่วันนี้ความเป็นจริงมันพลิกไปอีกด้านหนึ่งแล้ว
เพราะนโยบายของภาครัฐก็เน้นเรื่องการสร้างตัวได้
สังคมที่มองว่าครูกินเหล้า เล่นการพนัน มันล้าสมัยไปแล้ว
เพราะมีเรื่องของใบประกอบวิชาชีพครูควบคุมอยู่
ทำให้จะถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
วันนี้ถ้าจะให้ความเป็นธรรมต้องไปตรวจสอบด้วยว่า
การที่ครูเข้าถึงแหล่งทุนได้ และเขาสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าไหร่
ต้องมีการวิจัยเชิงลึกและต้องมีการนำมาตีแผ่กันว่าความจริงเป็นเช่นไร
ทุกวันนี้ครูบางคนกู้เงินไปซื้อที่ทำสวนยาง มีรายได้เพิ่มหลังจากผ่อนหนี้
เหลือเดือนละ 3-4 หมื่นบาทก็มี หรือในเมืองใหญ่ ๆ
ก็ไปสร้างหอพักให้นักศึกษา
กลายเป็นรายได้ขึ้นมาโดยที่ไม่เบียดบังการเรียนการสอน นี่เป็นหลักของเรา
อย่างแรกต้องดูแลพิทักษ์สิทธิครู โครงการที่ไปเบียดบัง การเรียนของเด็ก
เราจะไม่ให้มี
เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าครูเป็นหนี้เป็นสินเราพยายามจะออกจากวาทกรรมตรงนี้
"เลขาธิการสกสค.กล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 14 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--