รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล
เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.วันที่ 25 ธค.นี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
เสนอ เรื่อง
โครงการทุนศึกษาด้านการสอนภาษาต่างประเทศที่สองเพื่อผลิตครูในสาขาวิชาที่
ขาดแคลน ให้ครม.พิจารณาทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ รายงานว่า
ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่
สำคัญ ๆ โดยเฉพาะภาษาของประเทศคู่ค้า ได้แก่ ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี
เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย เวียดนาม เขมร พม่า
และภาษาบาฮาซามาเลย์/อินโดนีเซีย
เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ภาษาต่างประเทศและขีดความสามารถในการแข่งขันของคน
ไทย อันเป็นการเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็งสู่ประชาคมโลก
และประชาคมอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ยกระดับองค์ความรู้ให้ได้มาตรฐานสากล
แต่ปัญหาใหญ่ที่ประสบตลอดมาคือ ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีคุณภาพ
โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนโดยอาศัยครูไม่ตรงวุฒิ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ได้จัดอบรมความรู้ด้านภาษาและการสอนอย่างต่อเนื่องให้ครูไม่ตรงวุฒิเหล่านี้
โดยร่วมมือกับองค์กรเจ้าของภาษา
พร้อมทั้งจัดหาครูอาสาสมัครที่เป็นเจ้าของภาษามาร่วมสอนด้วย
แต่วิธีการดังกล่าวแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
เพราะครูไม่ตรงวุฒิบางส่วนไม่สามารถสอนได้อย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร
เมื่อเทียบกับความต้องการและความจำเป็นด้านคุณภาพและปริมาณเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้
ในปัจจุบันการบรรจุครูรุ่นใหม่ในสาขาภาษาต่างประเทศที่สองทำได้ยากขึ้น
เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตวุฒิครูในสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นและ
เยอรมันมีน้อยมาก
รวมทั้งไม่มีสถาบันอุดมศึกษาใดผลิตบัณฑิตวุฒิครูสาขาวิชาภาษาเกาหลี สเปน
รัสเซีย และภาษาประเทศอาเซียน
บัณฑิตวิชาเอกภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นวุฒิศิลปศาสตร์
ไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้
หากไม่ศึกษาเพิ่มเติมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
และตั้งแต่คุรุสภาประกาศยกเลิกการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพ
ครู เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553
ทำให้การจัดหาครูสอนภาษาต่างประเทศในสาขาวิชาที่ขาดแคลนเหล่านี้ยากขึ้น
มากกว่า หรือแทบไม่มีทางเป็นไปได้
และเมื่อปี พ.ศ. 2550 -
2552 สพฐ. ได้แก้ปัญหาอันนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างยั่งยืน
ด้วยการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ให้ทุนศึกษาด้านการสอนภาษาจีนแก่บัณฑิตจบใหม่ในสาขาวิชาเอกภาษาจีน
เพื่อพัฒนาเป็นครูที่มีคุณภาพและมีคุณวุฒิในวิชาชีพตามมาตรฐานของคุรุสภา
จำนวน 300 คน และบรรจุเข้ารับราชการเป็นครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.
300 โรงทั่วประเทศ โดยเฉลี่ยอัตราเกษียณ ในช่วงเวลา 3 ปี
มาตรการดังกล่าวช่วยเพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ภาษาจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยครู ที่มีคุณภาพ
ดังนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ
จึงเสนอให้ให้ครม.เห็นในหลักการโครงการทุนศึกษาด้านการสอนภาษาต่างประเทศที่
สองเพื่อผลิตครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน และขอให้ครม.อนุมัติ
การบรรจุข้าราชการครูผู้รับทุนจำนวน 600 อัตรา โดยแบ่งเป็น 2
ทางเลือกให้ครม.ตัดสินใจคือ
1.อนุมัติอัตราข้าราชการครูเพื่อบรรจุผู้รับทุนตามโครงการ จำนวน 600 อัตรา
นั้น ให้ ศธ. ใช้วิธีการบริหารจัดการจากอัตราว่างที่มีอยู่ก่อน
หากไม่เพียงพอก็ให้เสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ
(คปร.)
เพื่อพิจารณาจัดสรรจากอัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ว่างลงจาก
การเกษียณอายุราชการในแต่ละปีต่อไป
ซึ่งเป็นไปตามความเห็นชอบสำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (กพ.)ในช่วงปี พ.ศ.
2556 - 2561 หรือ 2.อนุมัติอัตราข้าราชการครูเพื่อบรรจุผู้รับทุนจำนวน 600
อัตรา ในช่วงปี พ.ศ. 2556 - 2561 โดยเฉลี่ย 150 ทุนต่อปี ทั้งนี้
จำนวนทุนต่อปีอาจปรับเพิ่ม - ลด ไม่เกินร้อยละ 5 ตามสถานการณ์ที่จำเป็น
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com