ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

ปชช.มั่นใจการตั้งศูนย์เฉพาะกิจ-นำคนพื้นที่มาเป็นครู แก้ปัญหาภาคใต้ได้

       ปชช.65.59% มั่นใจการตั้งศูนย์เฉพาะกิจดูแลครู 3 จ.ใต้ ช่วยลดปัญหาควาไม่สงบ ขณะที่ 71.73% เชื่อว่า การนำคนในพื้นที่มาเป็นครูจะช่วยลดปัญหาความไม่สงบได้ พร้อมอยากให้รัฐเพิ่มมาตรการดูแลครูและเจ้าหน้าที่ ลดการตกเป็นเป้าหมาย และลงพื้นที่มาดูแลเอาใจใส่ประชาชนมากขึ้น
      
       ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แนวทางการช่วยเหลือครูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2555 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,226 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา และกลุ่มอาชีพ ในกรณีแนวทางการช่วยเหลือครูที่ปฏิบัติหน้าที่ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบยิงจนเสียชีวิต จากการสำรวจ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 65.59 เห็นว่า การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจถาวรดูแลครู ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะช่วยลดปัญหาความไม่สงบได้ เพราะศูนย์เฉพาะกิจถาวรจะได้เข้ามาช่วยเหลือและดูแลครูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ ประชาชน 25.67 เห็นว่า ช่วยลดปัญหาความไม่สงบไม่ได้ เพราะการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจถาวรเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ รวมทั้งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานยากที่จะแก้ไขได้
      
       เมื่อถามว่า หากนำคนในพื้นที่มาเป็นครูจะสามารถช่วยลดปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้หรือไม่ นั้น พบว่า ประชาชน ร้อยละ 71.73 เห็นว่า จะช่วยลดปัญหาได้ เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่น่าจะมีความคุ้นเคยกับผู้คนและสถานที่ดีกว่าครู อาสาสมัครจากพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่ ประชาชน ร้อยละ 20.87 เห็นว่า ช่วยลดปัญหาไม่ได้ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แม้แต่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนในพื้นที่เองก็ยังถูกลอบทำร้าย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
      
       สำหรับการเพิ่มสวัสดิการให้กับครูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น การบรรจุเป็นพนักงานราชการ เพิ่มเบื้ยความเสี่ยง จะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจ หรือแรงจูงใจให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ นั้น พบว่า ประชาชน ร้อยละ 77.80 เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจ หรือแรงจูงใจให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพราะครูจะได้มีขวัญกำลังใจหรือแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่อีกร้อยละ 14.25 เชื่อว่า ไม่สามารถช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจหรือแรงจูงใจให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ได้ เพราะเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยจนรู้สึกกลัว อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินหรือคาดเดาสถาการณ์ได้ และเงินไม่สามารถชดเชยกับชีวิตที่ต้องสูญเสียบุคลากรไปได้
      
       และท้ายสุดสิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเข้าไปดูแลหรือช่วยเหลือครูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มากที่สุด คือ ควรเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับครูและเจ้าหน้าที่ เช่น การเพิ่มอัตรากำลังของทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เพื่อลดการตกเป็นเป้าหมาย และการติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมทั้งประชาชนอยากให้รัฐบาลเอาใจใส่และดูแลให้มากขึ้น ลงพื้นที่เพื่อมาดูสถานการณ์และฟังความเห็นของประชาชน


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น