ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

ห่อเหี่ยวใจครูไทยสู้อาเซียนไม่ได้มาเลย์-สิงคโปร์คัดแต่นร.หัวกะทิ


          ศึกษาธิการ * "ดิเรก" ระบุระบบผลิตครูไทยยังไม่ได้เรื่องสู้สิงคโปร์และมาเลเซียไม่ได้ ที่คัดแต่เด็กหัวกะทิมาเป็นครู แถมระบบการผลิตก็เข้มข้น ส่วนไทยอยากเรียนมหา'ลัยก็รับจนล้น ไม่ได้คุณภาพ ขณะที่คุรุสภาเองก็มีปัญหากีดกันไฟเขียวคนเก่งนอกสาขามาเป็นครู ชี้ประเทศพัฒนายาก เพราะคนในชาติยังคุณภาพต่ำ ส่วนรัฐบาลตื่นตัวแต่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจแต่ไม่ได้สร้างขีดความสามารถคน
          นายดิเรก พรสีมา อดีตประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมผู้นำครูอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาครูของหลายประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้รู้สึกห่อเหี่ยวใจ เพราะกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซียบอกว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป คนที่จะมาเรียนครูจะต้องเป็นคนที่ได้คะแนนในกลุ่มท็อปของชั้น ม.6 ขณะที่สิงคโปร์ได้ทำไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ มาเลเซียยังประกาศอีกว่า ทุกภาควิชาต้องจัดหาอาจารย์ชาวต่างชาติมาสอนอย่างน้อย 30% ของอาจารย์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการตื่นตัว ขณะที่สิงคโปร์ทุกวันนี้ในทุกภาควิชามีอาจารย์ชาวต่างชาติอย่างน้อย 40% แล้ว แต่กลับมาดูที่ไทย แค่จะให้มีการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในการให้ได้คนเก่งมาเป็น ครู ก็ยังค้านกันหัวชนฝา
          อดีตประธานบอร์ดคุรุสภากล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศพบว่า ไม่มีประเทศใดสร้างความสมบูรณ์และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้ โดยที่คนในประเทศยังมีคุณภาพต่ำ คิดและแก้ปัญหาไม่เป็น ขณะเดียวกันก็ไม่มีประเทศใดทำให้คุณภาพของคนในประเทศสูงขึ้นได้ โดยที่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและครูในโรงเรียนคุณภาพต่ำ จึงเป็นเหตุผลที่สิงคโปร์ต้องหาอาจารย์เก่งๆ มาสอน
          "ขณะนี้นโยบายรัฐบาล เหมือนกับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษามาก แต่การปฏิบัติหลายอย่างยังไม่ได้เริ่มทำ แต่ทั้งนี้ เราจะโทษรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าในส่วนคุรุสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องวิชาชีพครูที่ผ่านมาก็ขาดเอกภาพในการที่จะผลัก ดันกฎระเบียบต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิต การรับนักศึกษาของสถาบันการศึกษา การควบคุมคุณภาพสถาบันผลิตครู มาตรฐานการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตอนนี้ยังทำได้ง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราก้าวไปเร็วเหมือนประเทศอื่นไม่ได้แต่เราก็ต้องก้าว ต่อไปเรื่อยๆอีกส่วนหนึ่งคือ สถาบันผลิตครูของเราก็ขาดความรับผิดชอบ ขออนุญาตผลิตแค่นี้ แต่กลับผลิตเกินจากจำนวนที่ขอจนทำให้เป็นปัญหาเรื่องคุณภาพ"นายดิเรกกล่าว
          นายดิเรกกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พูดถึงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอาเซียน ซึ่งผู้ที่ได้ใบประกอบอนุญาตฯ จะสามารถไปสอนได้ทุกประเทศในอาเซียน โดยใบอนุญาตฯ ดังกล่าวจะออกโดยสภาครูอาเซียน ซึ่งเบื้องต้นประเทศสิงคโปร์ขอให้ใช้มาตรฐานของสิงคโปร์เป็นหลัก แต่ตอนนี้เราก็มัวแต่ไปเต้นกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไม่สนใจประชาคมสังคมและวัฒน ธรรม เพราะมัวแต่ไปสนใจเรื่องประชาคมการเมืองความมั่นคง มา 4-5 ปีหลังก็ไปเต้นกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจทั้งที่สิ่งที่เป็นรากฐานที่จะทำให้ ประชาคมเศรษฐกิจเดินไปได้คือประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เพราะเป็นเรื่องการสร้างขีดความสามารถของคนให้มีคุณภาพ ให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน คนไม่เอารัดเอาเปรียบ สุขภาพอนามัย ดังนั้นมองว่าเราต้องทำประชาคมสังคมให้ดีก่อน ซึ่งเมื่อสังคมเข้มแข็งแล้ว เรื่องเศรษฐกิจก็ดีเอง
          ด้านการเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการทุนศึกษาด้านการสอนภาษาต่างประเทศที่สอง เพื่อผลิตครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลนในช่วงปี พ.ศ.2556-2561 เฉลี่ยปีละประมาณ 150 ทุน โดยใช้งบประมาณดำเนินโครงการ 78 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติอัตราข้าราชการครูเพื่อบรรจุเข้ารับทุนจำนวน 600 อัตรา แบ่งเป็น ภาษาญี่ปุ่น 200 คน เกาหลี 140 คน เยอรมัน 40 คน ฝรั่งเศส 60 คน สเปน 40 คน รัสเซีย 20 คน เวียดนาม 25 คน พม่า 25 คน เขมร 25 คน และบาฮามาเลย์/อินโดนีเซีย 25 คน
          โดยโครงการดังกล่าวจะจัดสรรทุนให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 5 หรือบัณฑิตวิชาเอกภาษาที่ขาดแคลน เพื่อเข้ารับการอบรมทักษะภาษาและการสอนที่จัดโดยองค์กรของประเทศเจ้าของภาษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษให้ได้รับใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพครู และจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นครูสอนภาษาต่างประเทศที่สองใน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.).

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

แสดงความคิดเห็น