ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

สคบ.จัดระเบียบสถาบันกวดวิชา ครูกั๊กวิชา ไปรับจ๊อบนอกโรงเรียน

          จากข้อมูลช่วงกลางปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 200% และมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจกวดวิชาสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี เพราะลูกหลานคนที่พอมีฐานะทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างจังหวัด ต้องไปเรียนพิเศษไม่ต่ำกว่าคนละ 3-4 วิชา เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง และโรงเรียนเตรียมทหาร จากปัจจัยดังกล่าวทำให้สถาบันกวดวิชา และสถาบันติวภาษาต่างประเทศผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งที่ถูกกฎหมาย ไม่สร้างปัญหาให้กับลูกค้า แต่อีกจำนวนไม่น้อยก็เปิดโดยไม่ถูกกฎหมาย แถมยังมีการเอารัดเอาเปรียบกับนักเรียน หรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในรูปแบบต่าง ๆ นานา
          นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากมาร้องเรียนกับ สคบ. เพราะถูกสถาบันกวดวิชา และโรงเรียนสอนภาษาเอารัดเอาเปรียบ เช่น ไม่ได้เรียนกับอาจารย์โดยตรง แต่เรียนกับเทป วิดีโอ เวลาสอนไม่ครบชั่วโมง เปลี่ยนแปลงสถานที่เรียนไปจากเดิม ทำให้ผู้เรียนไม่สะดวกในการเดินทาง หรือโฆษณาว่าสอนโดยอาจารย์จากต่างประเทศ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่ใช่อาจารย์จากต่างประเทศ แต่เอาใครที่ไหนไม่รู้มาสอนแทน โดยผู้มาร้องเรียนส่วนใหญ่ต้องการขอเงินคืน และ สคบ.ต้องเรียกคู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ย ให้จ่ายเงินคืนในกรณีที่ผิดเงื่อนไขในสัญญา และไม่ปฏิบัติตามที่โฆษณาไว้
          สำหรับปัญหาของสถาบันกวดวิชา และโรงเรียนสอนภาษา นับวันจะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากขึ้น ทาง สคบ. จึงได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งมีโรงเรียนกวดวิชาเป็นสมาชิกของสมาคมฯ กว่า 500 แห่ง เพื่อหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีโรงเรียนกวดวิชาไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
          ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขปี พ.ศ. 2554 โรงเรียนเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกวดวิชา สถาบันสอนภาษา โรงเรียนสอนขับรถ โรงเรียนเสริมสวย ฯลฯ ที่มีนักเรียนตั้งแต่ 8 คนขึ้นไป ต้องมาขออนุญาตจัดตั้งและจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ จะเปิดขึ้นกันอย่างลอย ๆ เป็นโรงเรียนเถื่อนไม่ได้
          ถ้ามีนักเรียนตั้งแต่ 8 คนขึ้นไป ต้องขออนุญาตจัดตั้งและจดทะเบียนให้ถูกต้อง มีสถานที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง ตัวอาคารและห้องเรียนต้องปลอดภัย ไม่แออัดคับแคบ ไม่ใช่นั่งเรียนกันหลาย ๆ คนแล้วห้องเรียนพัง ตึกถล่ม เวลาเกิดเพลิงไหม้แล้วหนีออกมาไม่ได้
          นายจิรชัยกล่าวต่อไปว่า สคบ. รวมทั้งสช. ต้องการจัดระเบียบและยกระดับโรงเรียนกวดวิชา เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ เมื่อจัดระเบียบแล้วจะมอบตราสัญลักษณ์ สคบ. และตราของ สช. ให้กับโรงเรียนกวดวิชา โดยมีเงื่อนไขว่า 1. ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งโรงเรียนเอกชน และต้องมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภค
          2. โรงเรียนกวดวิชา ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเรื่องการทำสัญญา ความปลอดภัย (เพลิงไหม้-ตึกถล่ม) และการโฆษณา ไม่โฆษณาโอ้อวด เช่น ถ้าโฆษณาว่า "เรียนกับสถานกวดวิชาแห่งนี้ ปีที่แล้วสอบเข้าแพทย์ได้ 10 คน สอบเข้าคณะวิศวะได้ 20 คน หรือสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ 20 คน" คุณต้องมีหลักฐาน มีข้อมูลยืนยันว่าเด็กที่มาเรียนกวดวิชากับคุณ สามารถสอบเข้าแพทย์-คณะวิศวะ-โรงเรียนเตรียมทหาร ได้จริง ๆ ตามจำนวนที่โฆษณา เพราะถ้าโฆษณาโอ้อวด โฆษณาอันเป็นเท็จ มีความผิดจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท
          "สคบ.ไม่ได้มองคนทำธุรกิจเป็นอาชญากร เพียงแต่อยากจะเตือนกัน          ก่อน ให้เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา ต้องไปจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ และดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเรื่องการทำสัญญา ความปลอดภัย และการโฆษณา แล้ว สคบ.และ สช. จะมอบตราสัญลักษณ์ให้ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจเมื่อจะไปใช้บริการ โดยภายในเดือนธ.ค. นี้ สคบ.และ สช.มีเป้าหมายที่จะมอบตราสัญลักษณ์ให้กับโรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ปฏิบัติถูกต้อง ประมาณ 120-150 แห่ง หลังจากนั้นจะทยอยออกไปตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และหาดใหญ่"
          เลขาธิการ สคบ. กล่าวด้วยว่า สำหรับพฤติการณ์ของครูวิชาภาษาอังกฤษ ครูวิทยา ศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ รวมทั้งวิชาอื่น ๆ มีครูบางคนสอนเด็กในห้องเรียนไม่เต็มที่ ประเภทกั๊กวิชา แต่แอบไปเปิดกวดวิชานอกโรงเรียน นักเรียนคนไหนตามไปกวดวิชากับครูคนนั้น จะได้คะแนนพิเศษ และรู้แนวทางข้อสอบดีกว่าคนที่ไม่ไปเรียนกวดวิชากับครู ถ้าใครมีเบาะแสของครูประเภทนี้ให้แจ้งมาที่ สคบ. โทร.1166 โดยระบุชื่อครูที่ประพฤติในลักษณะดังกล่าว และระบุสถานศึกษามาด้วย สคบ.จะปกปิดชื่อผู้ร้องเรียน แล้วจะประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการเอาผิดกับครูประเภทนี้ เพราะถือว่าผิดจรรยาบรรณครู
          นอกเหนือจากการเข้าไปดูแลโรงเรียนกวดวิชา และสถาบันสอนภาษา ให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย มีความรับผิดชอบ และจริงใจต่อผู้บริโภคแล้ว นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล สคบ. ยังได้มอบแนวทางการทำงานให้กับ สคบ. ในการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้น 3 กลุ่ม หลัก ๆ คือ 1. กลุ่มธุรกิจและบริการ ที่มีพฤติการณ์หลอกลวง เอาเปรียบชัดเจน เช่น การจำหน่ายสิ่งของห้ามขาย สินค้าไม่มีคุณภาพ และมีอันตราย
          2. กลุ่มธุรกิจตั้งใจเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว บริษัททัวร์ และอัตราค่าห้องพักในโรงแรม ช่วงโลว์ซีซั่น กับไฮซีซั่น ซึ่งแตกต่างกันมาก 3. กลุ่มธุรกิจที่เอาความได้เปรียบมาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการจอดรถ ถ้าจอดเกินจาก 1 ชั่วโมง ไป 5-10 นาที กลับปัดเศษไปเต็มชั่วโมง คิดราคาเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง รวมทั้งอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่แพงจนเกินเหตุ เพียงแค่เป็นไข้หวัด แต่ค่ายา 2,000-3,000 บาท
          สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สคบ.จะเดินเข้าไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการ การทำงานร่วมกัน เพื่อลดช่องว่างไม่ให้ผู้ประกอบการมีช่องทางเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ในแนวทางปฏิบัติที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย.


          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

แสดงความคิดเห็น