เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม
นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เปิดเผยความคืบหน้าการคัดเลือกโรงเรียน 58
แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคล
เพื่อความอิสระคล่องตัวในการบริหารจัดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ทันปีการศึกษา 2556 ว่า ขณะนี้สำนักต่างๆ ใน
สพฐ.กำลังยกร่างหลักเกณฑ์กลางโรงเรียนนิติบุคคลใน 4 ด้าน คือด้านงานวิชาการ
งานบริหารบุคคล งบประมาณและการบริหารงานทั่วไป
โดยมุ่งแนวทางที่ชัดเจนว่าทำอย่างไรให้โรงเรียนที่ออกนอกระบบแล้วมีความเป็น
อิสระอย่างแท้จริง คาดว่าจะสรุปเบื้องต้นได้ในสัปดาห์หน้า
ส่วนข้อห่วงใยว่าหากโรงเรียนเป็นนิติบุคคลจะมีอิสระในเรื่องการระดมทรัพยากร
จนเป็นช่องทางให้บีบบังคับระดมเงินจากผู้ปกครองได้นั้น ประเด็นนี้
สพฐ.ก็มีความห่วงใยเช่นเดียวกัน จึงจะกำหนดแนวทางป้องกันไว้
เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ปครองเข้ามามีส่วนร่วมในการวางหลักเกณฑ์ต่างๆของ
โรงเรียน เพื่อความเหมาะสมอย่างแท้จริง
นายเสริมศักดิ์
พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า
การเป็นโรงเรียนนิติบุคคลต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ที่สำคัญควรสำรวจความพร้อมของแต่ละโรงเรียนก่อน
ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาได้
ถ้าโรงเรียนไม่พร้อมจะออกเป็นนิติบุคคลโดยอาจจะกำหนดเป็น แผนระยะยาว 3-4
ปีส่วนกรณีที่ผู้ปกครองห่วงใยเรื่องค่าเล่าเรียนที่อาจสูงขึ้นนั้น
เรื่องนี้ ศธ.จะต้องมีกฎเกณฑ์ออกมาควบคุมโรงเรียนด้วย
นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า
เห็นด้วยที่จะให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ
เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตัวเองได้รวดเร็ว โดย
สพฐ.จะต้องปล่อยให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
ไม่ใช่ยังคอยควบคุมอยู่นอกจากนี้ จะต้องมีกฎเกณฑ์
กำกับเรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหารโรงเรียน เพื่อไม่ให้การทำงานมีปัญหา
รวมทั้งควร กำหนดสัดส่วนการรับนักเรียนให้ชัดเจนว่า
จะรับนักเรียนจากผู้สนับสนุนโรงเรียนเท่าไหร่
และเหลือที่ว่างไว้สำหรับเด็กทั่วไปได้สอบแข่งขันเข้าเรียนเท่าไหร่
รวมถึงการรับเด็กด้อยโอกาสทางสังคมด้วย ไม่ใช่รับแต่ลูกคนรวยอย่างเดียว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน