ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

อะไรจะเกิดขึ้น!? ถ้าครูมีสิทธิเลือก.. "รัฐมนตรีศึกษา"ได้เอง!!


เช้าวันนั้น ผอ.โรงเรียนหนุ่มท่านหนึ่งไปเจอ ผอ.รุ่นพี่อีกโรงเรียนหนึ่งที่ตลาด แล้วยื่นหนังสือพิมพ์มติชนให้ดู และชี้ที่พาดหัวข่าวพร้อมพูดว่า "นี่พี่เห็นไหมข่าวอะไร"

ผอ.รุ่นพี่มองแล้วก็ทำหน้างงๆ ผอ.หนุ่มจึงเฉลยว่า "..รัฐมนตรีศึกษาคนใหม่"

ผอ.รุ่นพี่ดูแล้วพูดเหมือนตกใจว่า "อ้าว..เปลี่ยนรัฐมนตรีอีกแล้วหรือ"

พลาง ถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนพูดต่อไป "เฮ้อ..นี่เราเพิ่งประชุมคณะครู เพื่อส่งครูไปอบรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมครูนะนี่ โครงนี้จะยกเลิกหรือเปล่า"

ผอ.โรงเรียน หนุ่มส่ายศีรษะก่อนพูดว่า "ยังไม่รู้เหมือนกัน..ผมเองก็เพิ่งประชุมคณะครูเพื่อวางแผนการเปิดเทอมใหม่ และจะส่งครูเข้ารับการอบรมการพัฒนาสื่อ และการจัดทำเครื่องมือวัดผลประเมินผล หรือแบบทดสอบออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเขาจัดขึ้น ไม่รู้ว่านโยบายจะไปยังไงแน่"

"นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อ้าว..นักกฎหมายนี่ ทำไมนักการศึกษาไม่มีหรือ"

"เออ..แต่เขาก็เป็นคนดีนะ" 2 ผอ.หันมาวิจารณ์กันถึงบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีใหม่

จาก คำสนทนาของ 2 ผอ.ที่ยกตัวอย่างมาให้ปรากฏข้างบน แสดงถึงความไม่มั่นใจว่านโยบายการอบรมเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมครู และนโยบายอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ จะมีการดำเนินการต่อหรือไม่ ซึ่งความวิตกกังวล ความไม่มั่นใจในการกำหนดนโยบายของรัฐมนตรีดังกล่าว มีผลกระทบต่อโรงเรียน และเกิดแรงกระเพื่อมในวงการศึกษาไปทั่วประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแต่ละครั้ง


"เพราะเมื่อมีการ เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที ก็มักจะมีนโยบายใหม่มาให้ครูเริ่มต้นปฏิบัติกันใหม่อีกที บางครั้ง (บ่อยมาก) นโยบายของรัฐมนตรีท่านก่อนแม้จะดีอยู่แล้ว วงการครูก็รับว่าดี จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะไม่ได้รับการสานต่อ ถ้าเป็นรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกันก็อาจสานต่อกล้อมแกล้มบ้างพอเป็นพิธี แต่ไม่นานก็เลิกลาไปเอง อย่างเช่น นโยบายให้ครูและนักเรียนฝึกพูดสนทนาภาษาอังกฤษอย่างจริงจังสัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น แต่พอนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี มาเป็น ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช โครงการนั้นก็เงียบหายไป การเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยเกินไป จึงเป็นสิ่งที่ครู และคนในวงการศึกษาไม่ค่อยชอบเท่าไรนัก ยกเว้นรัฐมนตรีท่านนั้นจะเกิดความผิดพลาด บกพร่อง ลุแก่อำนาจ จนเกิดความเสียหายต่อวงการศึกษาจริงๆ"

หากพิจารณาการเปลี่ยนตัว รัฐมนตรีแต่ละครั้งอย่างเห็นใจนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการจะกระจายความพอใจให้คนการเมือง ที่คิดว่าในชีวิตหนึ่งที่เกิดมาเป็นนักการเมืองกับใครเขา ก็อยากให้ได้จารึกชื่อว่าได้เป็นรัฐมนตรีกับเขาบ้าง เพื่อเป็นเกียรติ และศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล ก็น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย หรือจะด้วยเหตุแห่งผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือจะด้วยเพราะมุ้งเล็กมุ้งใหญ่เพื่อให้การอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกของนักการ เมืองก็ไม่ว่ากระไร ขอเพียงนโยบายบางอย่างที่โดนใจครู ถูกใจคนในวงการศึกษา นำพาเด็ก เยาวชนให้พัฒนาด้านต่างๆ ได้จริงนั้น ให้ดำรงอยู่ และดำเนินไปได้หรือไม่ ไม่ตายหายไปกับรัฐมนตรีได้หรือไม่ อย่าว่าแต่นโยบายของพรรคเดียวกันเลย แม้แต่นโยบายของพรรคการเมืองอื่นก็กล้ายังคงไว้ หากเข้าเงื่อนไขที่กล่าวมาได้หรือไม่

การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแต่ละ ครั้งย่อมอยู่ในเป้าสายตาของผู้คนที่เป็นฝ่ายปฏิบัติอยู่ในสายงานนั้นๆ ตัวอย่างกระทรวงศึกษาธิการที่ 2 ผอ.วิจารณ์กันนั้น การแสดงความคิดต่อคนที่มาเป็นผู้บังคับบัญชาระดับกำหนดนโยบายนั้น ย่อมมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่เป็นคนนอกกระทรวง ส่วนกรณีที่เป็นคนเคยอยู่ในกระทรวงมาก่อน คำวิจารณ์ในทางที่ไม่เห็นนั้นมีน้อย อย่างกรณีของ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช และ "นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ" เป็นต้น ครูส่วนใหญ่บอกว่าเป็นคนในย่อมเข้าใจเรื่องการศึกษา และคนในวงการศึกษาได้ดี และผลงานที่ผ่านมาก็กำลังให้คำตอบ ไม่ว่าจะเป็นนายชินวรณ์ และ ศ.ดร.สุชาติ แต่ก็ต้องมาเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีใหม่

สำหรับคนนอกที่มีภาพลักษณ์นัก บริหารมือโปร ที่อดีตนายกฯ หวังนำมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ที่สร้างความฮือฮาหวือหวาให้คนในวงการศึกษาได้รับรู้ก็มีอยู่หลายคน เช่น "ดร.อดิศัย โพธารามิก" ที่พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยเงินประมาณโรงเรียนละ 5 ล้านบาท "นายสุขวิช รังสิตพล" ที่สร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล ส่วนประโยชน์มากน้อยเพียงใด คุ้มค่าหรือไม่ คงไม่ต้องวิจารณ์ ผู้ปฏิบัติการอย่างครู และ ผอ.โรงเรียนที่สนทนากันข้างต้นนั้นย่อมรู้ดี

"เอา เป็นว่าครู ผู้บริหาร และคนในวงการศึกษา ไม่มีสิทธิเลือกเจ้านาย จึงเป็นใครก็ได้ที่นายกฯ เห็นว่าเหมาะสมที่จะนำพาการศึกษาชาติให้ก้าวหน้าได้มาเป็นผู้กุมบังเหียน ผู้ปฏิบัติย่อมพร้อมเสมอ ไม่มีทางปฏิเสธได้ แล้วถ้าครูมีสิทธิเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เองล่ะ ครูจะเลือกคนอย่างไร ต่อคำถามนี้ ในวงสนทนาครูพูดเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า นอกจากต้องเป็นผู้มี EQ สูง แต่มี EGO ต่ำแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่ "เข้าใจลึก และรอบด้านในเรื่องการศึกษา"

คำถามจึงมีว่าคำว่า "เข้าใจลึก และรอบด้านในเรื่องการศึกษา" คืออย่างไร เข้าใจแค่ไหนถึงเรียกได้ว่า "เข้าใจลึก" และ "รอบด้าน" ในวงสนทนาขยายความว่า "เข้าใจลึก หมายถึง การเข้าใจเรื่องการศึกษาอย่างลึกซึ้งในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างนโยบายการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นโยบายการศึกษาตามแนวนโยบายการศึกษาชาติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ขอบเขต เป้าหมายการศึกษาแต่ละชั้นปีที่ปรากฏใน พ.ร.บ.การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะ อุดมศึกษา การศึกษาพิเศษ ตลอดจนการศึกษาตามอัธยาศัยหรือการศึกษาทางเลือก

กล่าว เฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน "เข้าใจลึก" น่าจะลึกไปถึงโครงสร้างของหลักสูตร สาระสำคัญที่ปรากฏในหลักสูตร เช่น สาระฯ มาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดแต่ละชั้นปี เลยไปถึงตัวชี้วัดของรายวิชา จุดเน้นที่กำหนดไว้ในแต่ละชั้น รวมถึง คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของแต่ละชั้นด้วย การเข้าใจในระดับ "ลึก" นั้น ไม่ได้หมายถึงต้องจำได้ว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ภาษาไทยสาระที่ 1 ต้องเรียนรู้อะไร เน้นอะไร และจำให้ได้ในตัวชี้วัดนั้นๆ เพียงแต่รู้อย่างคร่าวๆ ว่าชั้นนั้นมุ่งเน้นอะไร เช่น ระดับ ป.1 มุ่งอ่านออกเขียนได้ ป.4 มุ่งอ่านคล่องเขียนคล่อง เป็นต้น เหมือนนักกฎหมายที่ต้องรู้ว่าเรื่องอย่างนี้จะต้องนำกฎหมายใด เรื่องใด มาตราใดมาปรับใช้ เป็นต้น ก็ไม่ต้องท่องจำได้ทุกมาตราเสมอไป

นอกจาก นั้นยังรู้ "ลึก" ถึงวิธีการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียน เทคนิคการสอน ทฤษฎีการเรียนรู้ บอกได้ว่าวิชานี้ เรื่องนี้ควรใช้เทคนิควิธีสอนอย่างไร ให้คำไขได้ว่าครูสอนอย่างนี้ไม่เหมาะกับเด็กระดับนี้ ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติวิชานี้ ในด้านสื่อ นวัตกรรม ก็สามารถเข้าใจลึกถึงตำรา หนังสือเรียน เอกสารประกอบการเรียน หนังสืออ่านเพิ่มเติม หนังสือส่งเสริมการอ่าน สื่อ อุปกรณ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี มัลติมีเดีย ที่หน่วยงาน สำนักพิมพ์ และครูนำไปใช้กับผู้เรียน ว่ามีลักษณะอย่างไรจึงเหมาะสมกับเด็กระดับวัยนั้นๆ ให้คำตอบได้ว่าสื่ออย่างนี้เหมาะไม่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ กล้าทักว่า "เอ๊ะ! เราทำสื่ออย่างอื่นดีไหม อย่างนี้ผมว่าไม่เหมาะกับเด็กวัยนี้นะ เพราะ...." แล้วให้เหตุผลอย่างนักวิชาการ มีทฤษฎีอ้างอิงในการทักท้วงนั้นมีเหตุผล สามารถวิพากษ์ระดับการออกแบบทดสอบ เครื่องมือวัด และประเมินผลของครูได้อย่างมีหลักวิชาการ มีความเป็น "นักวิจัย" และ "นักวิชาการ" ในตัวสูง

คำว่า "รอบด้าน" คือการ "เข้าใจโลก", "เข้าใจสังคม" และ "เข้าใจคน" เข้าใจโลกคือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสังคมโลก ไม่เฉพาะด้านการศึกษาอย่างเดียว แต่เข้าใจด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของนานาอารยประเทศที่การศึกษาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เข้าใจสังคมคือ เข้าใจความเป็นเปลี่ยนแปลง ความเป็นไป และความเป็นอยู่ของสังคมนั้นๆ ว่ามีปัญหาอะไร ดีชั่วอย่างไรที่การศึกษาต้องเข้าไปมีส่วนในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ส่วนเข้าใจคนก็คือ เข้าใจคนทุกระดับอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกาย และใจ เข้าใจจิตวิทยาคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเรียน การศึกษาจะมีส่วนเข้าไปช่วยพัฒนาคนทุกระดับให้มีคุณภาพดีขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรการศึกษาจึงช่วยให้คนจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้คนมีสุขภาพดี มีสุข และมีอายุที่ยืนยาว เป็นต้น

"อาจมีคนเห็น ค้านแย้งว่าถ้าจะให้ได้อย่างนั้น ขนาดนั้นก็ต้อง "เทวดานะสิ" จำเป็นหรือไม่ที่รัฐมนตรีจะต้องรู้ "ลึก และรอบด้าน" ถึงขนาดนั้น จำเป็นอะไร เพราะหยุมหยิมเกินไป การรู้ลึกอย่างนั้นจะมีผลต่อการจัดการศึกษาอย่างไรหรือไม่ ข้อนี้ผู้เขียนหมายถึงถ้าให้เลือกได้ ก็จะเลือกเอาคนที่รู้ลึก และรอบด้านถึงขนาดนั้น ทั้งนี้ เพราะการรู้ลึก และรอบด้านจะมีส่วนทำให้การกำหนดนโยบายการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รู้เป้าหมายที่ชัดเจนด้วยตัวของรัฐมนตรีเอง ไม่ใช่อาศัยบรรดากุนซือที่นั่งหน้าสลอนในกระทรวง ที่ปรึกษาที่รู้ไม่จริง หรือนักวิชาการเฉพาะทางที่ไม่รู้บริบทของท้องถิ่น แล้วกำหนดให้รัฐมนตรีหันตาม การศึกษาไทยก็คงไม่ต่างจากที่ผ่านมา คือ ย่ำอยู่กับที่ และค่อนข้างจะถอยหลังด้วยซ้ำ"

ที่เขียนมาข้างต้นนั้น หมายถึงเลือกได้ แต่ความเป็นจริงแล้วครู หรือบุคลากรหน่วยงานใด ก็ไม่สามารถเลือกรัฐมนตรีได้ตามปรารถนาของตน แม้แต่แสดงความคิดผ่านสื่อว่าต้องการคนเช่นนั้น ลักษณะเช่นนี้มาเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ค่อยเห็นมี

เมื่อครูไม่อาจเลือก รัฐมนตรีได้ตามหวัง ก็อยากฝากถึงท่านรัฐมนตรีทั้งสองด้วยว่า ท่านมีไม้มีมือ มีคนรอบข้างที่มีความรู้ความสามารถแต่ละฝ่าย แต่ละสาขาวิชาเยอะแยะ เมื่อรวมกันแล้วถือว่ามีความรู้ "ลึก" และ "รอบด้าน" ข้อสำคัญว่าให้มี EQ สูง และ EGO ต่ำ คงพอ..

"และการเลือกคนรอบข้างมาช่วยงาน โดยเฉพาะการเลือกมาเป็นฝ่ายบริหารการเมือง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอะไรอีกเยอะแยะนั้น ควรเลือกเอาคนที่เข้าใจการศึกษา เข้าใจหลักสูตร เข้าใจโครงสร้างการศึกษาโดยรวมจริง มีคุณภาพด้วย ไม่ใช่เลือกเอาญาติพี่น้อง เด็กฝาก ญาติเพื่อน ตอบแทนหัวคะแนน เข้าไปเป็นไม้ประดับเท่านั้น"

เพราะเท่าที่ผ่านมาบางท่านตั้งญาตินักการเมืองไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี คนแถวๆ หมู่บ้านพอรู้ก็ร้อง "ยี้"

"ว่าคนอย่างนี้หรือจะไปขับเคลื่อนการศึกษาชาติ"

คอลัมน์ มติชน มติครู หน้า 6 มติชนรายวัน 11 พ.ย. 2555โดย สำลี รักสุทธี ครูวิทยฐานะ ครูเชี่ยวชาญ krusamlee@gmail.com

แสดงความคิดเห็น