ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

ผลวิจัยจุฬาฯชี้ไทยอ่อนอาเซียนแพ้ประเทศอื่น-หวั่นหล่นจากที่ 3 ไปอันดับ 7 เผย 3 หมื่นร.ร.ขาดงบเตรียมความพร้อม

          เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งในการนำเสนอโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาบุคลากรและผลิตภาพ บุคลากรเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ว่า หลายประเทศมองว่าการศึกษาต้องเตรียมคน เพื่อรองรับการแข่งขันตลาดเสรี ส่วนไทยได้สอบถามครูเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเรื่องอาเซียน พบว่าครูมีความรู้ไม่มาก แต่ต้องการได้รับความรู้มากขึ้น ส่วนนักเรียนมีความรู้พื้นฐานน้อย แต่ยังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนทุกด้านเพิ่ม ทั้งนี้ หากดูความพร้อมในแต่ละประเทศ ไทยแพ้ทางประเทศอื่น เพราะมีจุดอ่อนหลายเรื่อง อาทิ การเมืองไม่นิ่ง จึงไม่สานต่อนโยบาย งบประมาณไม่พอ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ แม้พบว่าผู้บริหารสถานศึกษาและครูเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม แต่ครูและนักเรียนไม่พร้อมเรื่องของภาษาอังกฤษและการแข่งขัน ส่วนนโยบายด้านอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นลายลักษณ์อักษร เชิงหลักการทั่วไป กว้าง ทำให้ขาดเอกภาพ ขาดทิศทางในการนำลงปฏิบัติในสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษายังสะท้อนว่าทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากการปักธงอาเซียนไว้ในโรงเรียน ทั้งนี้ หากไทยไม่ทำอะไรเลย อีก 2 ปีจะอยู่ในอันดับที่ 6-7 ของอาเซียน แม้ตอนนี้จะอยู่อันดับ 3
          "จากการศึกษาพบว่า โรงเรียน 3 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศยังไม่มีงบเตรียมความพร้อม ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาตนเอง แม้ขณะนี้จะนำร่องโรงเรียนต้นแบบไปแล้วบางส่วน ฉะนั้น ในปีงบฯ 2557 ควรกำหนดหมวดงบการเข้าสู่อาเซียน เช่น อาจจะจัดสรรงบให้โรงเรียนขนาดใหญ่ 5 แสนบาท ขนาดกลาง 3 แสนบาท และขนาดเล็ก 1 แสนบาท ส่วนเรื่องหลักสูตรการเรียนรู้ควรเน้นการปฏิรูปหลักสูตร พ.ศ.2551 ใหม่ และควรสังคายนาประวัติศาสตร์ด้วย เพราะระบบการเรียนการสอนมักสอนเรื่องความเกลียดชังในการเรียนอยู่ด้วย ส่วนการเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษต้องทำเป็นวาระเร่งด่วนภายใน 2 ปีนี้" นายสมพงษ์กล่าว
          นางวลัย อิศรางกูร ณ อยุธยา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผู้วิจัย กล่าวว่า ในระดับมัธยมศึกษานั้น ผู้บริหารและครูมัธยมยังไม่ทราบเกี่ยวกับนโยบายการเปิดเสรีด้านการศึกษาของ อาเซียนที่มี 4 รูปแบบ งานวิจัยนี้เห็นว่าควรปรับนโยบายการศึกษาของประเทศโดยเน้นขับเคลื่อนให้เป็น ประเทศผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาค การตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย การจัดทำแผนงาน และงบในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย
          น.ส.ปัทพร สุคนธมาน วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้วิจัย กล่าวว่า คณาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหารในระดับอุดมศึกษา เห็นว่าการเตรียมพร้อมอยู่ในระดับน้อย โดยเฉพาะความพร้อมเทียบโอนหน่วยกิตและการรับรองวิทยฐานะ เมื่อประเมินโอกาสและผลกระทบ จะเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยมีจุดแข็งเรื่องค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย และคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ แต่มีจุดอ่อนเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน คุณภาพของนักศึกษาบางกลุ่ม การแข่งขันในตลาดจะเพิ่มมากขึ้น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่ไม่สมดุล แม้จะมีนักศึกษาต่างชาติมาแลกเปลี่ยนมากขึ้น แต่นักศึกษาไทยจะไปแลกเปลี่ยนได้บางส่วน เพราะปัญหาค่าใช้จ่ายและภาษา ฉะนั้น การผลักดันเรื่องอาเซียนในระดับอุดมศึกษา ศธ.ควรมีแผนแม่บท ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและรัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาสำหรับวิชาชีพที่สามารถย้ายแรงงาน ฝีมืออย่างเสรีในประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏควรสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและบัณฑิต กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการรับนักศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลควรสนับสนุนความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรม สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐควรสนับสนุนให้เป็น มหาวิทยาลัยวิจัยที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ค้นหา และสนับสนุนนักศึกษาและนักวิจัยที่มีความสามารถสร้างเครือข่ายนานาชาติ ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนควรควบคุมมาตรฐานให้กลไกการตลาดทำงาน


          --มติชน ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--

แสดงความคิดเห็น