ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

ย้อนมองการศึกษาไทยบนความหวังที่ก้าวไม่ออก


       เป็นที่ทราบว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการวางรากฐานของประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศต่างก็ให้ความสำคัญกับงานการศึกษา ทุ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาการศึกษา ประเทศไทยเองก็ย้ำกันมาตลอดว่าการศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ งบประมาณด้านการศึกษาก็ได้รับมากที่สุด แต่ที่ผ่านมา
       ภาพการพัฒนาการศึกษาไทยก็ผ่านไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ มองไม่เห็นผลความสำเร็จที่ชัดเจน บ้างก็ว่าถอยหลังเสียด้วยซ้ำ
       ตลอดปี 2555 แม้งานการศึกษาจะอยู่ภายใต้รัฐนาวาปูเดียวกัน แต่นโยบายก็มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามเสนาบดี เมื่อเปลี่ยนเจ้ากระทรวงนโยบายก็เปลี่ยน ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด อย่างเรื่องการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้า ราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี 2555 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.ศึกษาธิการ อ้างว่าได้รับการร้องเรียนในส่วนของขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์เข้ามามากว่า เป็นช่องทางให้มีการเรียกรับเงินได้ จึงมีนโยบายให้ยกเลิกขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของกรรมการ และป้องกันการแก้ไขปัญหาการทุจริตวิ่งเต้น
       นโยบายนี้นับว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะยึดหลักการความเป็นธรรมเป็นที่ตั้งด้วยข้อเขียนใครทำได้หรือไม่ได้ ตัดสินกันไปเลยไม่ต้องใช้ความรู้สึกของกรรมการซึ่งอาจจะเกิดความลำเอียงได้  แต่ก็ทำได้เพียงครั้งเดียว เพราะมีเสียงเรียกร้องให้ฟื้นการสอบสัมภาษณ์กลับมาใช้กับการคัดเลือกคนเข้า มาเป็นครู ด้วยเหตุผลว่าการสอบข้อเขียนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถคัดกรองบุคลิกลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อการเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ได้ งานนี้จึงต้องมีการชงเรื่องให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ ฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (บอร์ด ก.ค.ศ.) เป็นผู้ตัดสิน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะต้องถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน  เรื่องนี้จึงเป็นกระจกสะท้อนภาวะผู้นำด้านการศึกษาได้
       โครงการยกระดับการศึกษาประชาชนจบม.6 ใน  8 เดือน เป็นอีกโครงการที่ถูกตั้งคำถามว่า เป็นประชานิยมหรือไม่ และคนที่ได้วุฒิ ม.6 จากโครงการนี้จะมีคุณภาพหรือเปล่า เพราะสิ่งที่จะได้แน่ ๆ จากโครงการนี้คือจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยจะขยับขึ้นจากปัจจุบันที่ 8 ปีกว่า ๆ หรือ ประมาณ ม.3 ก็จะก้าวกระโดดไปเป็น ม.6 ซึ่งจะส่งผลให้วุฒิ ม.6 ของประเทศไทยมี 3 มาตรฐาน คือ ม.6 จากโรงเรียนในระบบ ม.6 สายสามัญศึกษาของ กศน. และ ม.6
       ที่ได้จากการเทียบระดับประสบการณ์ในอาชีพ  ซึ่งไม่ว่าจะจบจากระบบใดก็มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกันสามารถใช้วุฒิไป เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ แต่ก็มีการมองไปถึงอนาคตว่าเรื่องนี้จะเป็นบันไดที่อาจนำไปสู่ปัญหาคุณภาพ บัณฑิตได้ เป็นประเด็นที่สร้างความตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศที่จะได้รับแจกแท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์พกพา ผ่านโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและคัดค้าน แถมด้วยประเด็นร้อนเรื่องการจัดซื้อที่ไม่ลงตัวจนต้องเลื่อนการเซ็นสัญญากับ ประเทศจีนออกไป แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ได้ปล่อยแท็บเล็ตถึงมือเด็กและครูชั้น ป.1 แล้วกว่า 900,000 เครื่องในโรงเรียนทุกสังกัด แต่จะว่าไปแล้วหลายโรงเรียนในประเทศไทย เหมือนจะเป็นโอกาสบนความไม่พร้อม บางพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังไม่มีสัญญาณสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะเดินหน้าต่อ โดยในปีการศึกษา 2556 จะขยายการแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้น ม.1 และ ป.1 รุ่นใหม่ รวมกว่า 1.6 ล้านเครื่องด้วย
       ส่วนการตรวจสอบกรณีทุจริตจัดหาครุภัณฑ์อาชีวศึกษาตามโครงการลงทุนตามแผน ปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาทซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นั้น ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในการตรวจสอบและพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงซึ่งนำ ไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการโยนเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเดินหน้าต่อ  แต่น่าเสียดายว่าตลอดระยะเวลาของการตรวจสอบดูเหมือนผู้มีอำนาจสูงสุดจะไม่ เล่นด้วย ส่งผลให้การดำเนินการตรวจสอบเป็นไปอย่างทุลักทุเลไม่ปรู๊ดปร๊าดดังใจ กว่าจะเข้าที่ก็เล่นเอาเหนื่อยไป
       ตาม ๆ กัน และที่ยิ่งน่าเสียดาย คือ พอกระบวนการตรวจสอบมีความก้าวหน้าก็มีอันต้องปรับคณะรัฐมนตรีทำให้การตรวจ สอบเหมือนกับชะงักไป ก็ต้องรอดูว่าปี 2556 เรื่องนี้การตรวจสอบจะเดินต่อไปทางไหน
       สำหรับเรื่องการปรับเวลาเปิด-ปิดภาคการศึกษาให้สอดคล้องกับปฏิทินการ ศึกษาสากล เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะกว่าจะลงตัวปรับใหญ่กันทั้งระบบใช้เวลาเป็นปีในการถกเถียงและนำเสนอ ความคิด งานนี้มีพี่ใหญ่อย่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นแกนสำคัญในการผลักดัน โดยมีมหาวิทยาลัยทยอยลงมือปรับเวลาเปิดภาคเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 และจะปรับเต็มรูปแบบทั้งระบบทุกระดับการศึกษาในปีการศึกษา 2557
       ในฟากอุดมศึกษาก็มีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาแก้ไม่ตกโดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพ การศึกษาทั้งระบบ  บัณฑิตที่ผลิตออกมาบางสาขาก็ล้นตลาดทำให้มีปัญหาตกงาน หรือทำงานไม่ตรงสาขาที่เรียนมา ขณะที่บางสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศก็ยังขาดแคลนเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์  ส่วนเรื่องการเพิ่มจำนวนสถาบันอุดมศึกษาดูจะเป็นแนวโน้มที่ดีเพราะมีอัตรา การเพิ่มลดลง ซึ่งเหตุผลน่าจะเนื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ.ได้มีการตั้งเป้าตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งอย่างจริงจัง และไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งใหม่ ซี่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในเรื่องการควบคุมคุณภาพ แต่สถาบันอุดมศึกษาก็หัวหมอหาช่องทางอื่นในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาโดยการ จัดการเรียนการสอนในระบบทางไกลแทน ซึ่งก็ยังไม่มีใครกล้ารับรองได้ว่าระบบการจัดการศึกษาทางไกลจะมีคุณภาพแค่ ไหน แต่ที่แน่ ๆ ก่อนสิ้นปีมีนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตระบบการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ร้องเรียนไปที่สกอ.ว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาก่อนที่หลักสูตรจะผ่านการ รับทราบจากสกอ. ส่งผลให้นักศึกษากว่า 2,000 คนจบหลักสูตรไม่ได้และจะไม่ได้รับปริญญา แต่ที่ร้ายกว่านั้นบางสถานศึกษามีการเปิดรับนักศึกษาก่อนที่จะได้รับใบ อนุญาตจัดตั้งสถาบันเสียอีก จนสกอ.ต้องถึงกับแจ้งความดำเนินคดีกันไปแล้ว
       อีกเรื่องที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้นั่นคือ การปิดมหาวิทยาลัยอีสาน หรือ มอส.ที่มีปัญหาการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิต(ป.บัณฑิต)วิชาชีพครู หลังจากที่มีความพยายามแก้ปัญหามาปีกว่า แต่ก็สุดจะเยียวยาในสุดที่กระทรวงศึกษาธิการจึงได้สั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาก็ไม่จบเพราะยังมีนักศึกษาหลายพันคนที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิด มหาวิทยาลัย ซึ่งต้องรอดูว่าปี 2556 นี้จะสามารถแก้ปัญหาได้จบสิ้นหรือไม่
       และประเด็นสุดท้ายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่าการศึกษาไทยโดนตบหน้าอย่างจัง เมื่อ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ออกมาเปิดข้อมูลของสถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson จัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้ายซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่ สุด นอกจากนี้วิกฤติการศึกษาที่สะท้อนจากการจัดอันดับการศึกษาพบว่าการศึกษาของ ไทยถดถอยลงตามลำดับทุกปี โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยตามหลังเวียดนาม แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นอุดมศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งตามหลังทั้งกัมพูชาและฟิลิปปินส์
       ที่ว่ามาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของสิ่งที่เกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษาในรอบปี ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและเป็นปัญหาคาราคาซังที่ต้องรอดูฝีมือของ รัฐมนตรีทั้ง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช จะนำการศึกษาไทยเดินไปในทิศทางใด แต่ที่แน่ ๆ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้มีการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับด้วยเห็นว่าเด็กไทยเรียนมากแต่ ความรู้น้อย โดยมอบหมายให้ ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช เป็นพ่องานปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับโดยให้มีการทบทวนเนื้อหาสาระใน หลักสูตรที่เด็กต้องเรียนเพื่อให้มีความรู้พื้นฐาน มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
       แต่อย่างไรก็ดี ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ก็ได้แย้มออกมาแล้วว่าในประเทศที่เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงอย่าง สิงคโปร์เด็กก็ไม่ได้ใช้เวลาในการเรียนมากเหมือนเด็กไทย ดังนั้นอาจต้องมีการลดเวลาเรียนของเด็กไทยลง แต่ในอีกด้านก็มีความเห็นแย้งมาแล้วเช่นกันว่า หากลดเวลาเรียนในห้องเรียนโรงเรียนกวดวิชาก็ยิ้มแน่นอนเพราะจะมีรายได้เพิ่ม เพราะค่านิยมของผู้ปกครองต้องการให้ลูกหลานเรียนให้มากที่สุด ให้ได้อะไรเยอะ ๆ และตราบใดที่การเข้ามหาวิทยาลัยยังเน้นที่วิชาการก็หนีไม่พ้นที่จะต้องกวดวิชา

ที่มา : เดลินิวส์

แสดงความคิดเห็น