นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา
รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของระดับอุดมศึกษาขณะนี้
และดูท่าจะควบคุมได้ยากคือ การสอบรับตรงของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
ที่เปิดกันมาก ขณะที่ปัญหาความเดือดร้อนก็มากเช่นกัน
โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายจากการสอบรับตรงต่างๆ
ที่ผู้ปกครองบางคนต้องเสียเงินให้บุตรหลานไปวิ่งรอกสอบสูงถึงหลักแสนบาท
ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่าหากเด็กอยู่ในครอบครัวที่ฐานะดี
ก็มีโอกาสวิ่งรอกสอบรับตรงมากขึ้นขณะที่เด็กที่ครอบครัวฐานะไม่ดีก็เหมือน
ถูกตัดโอกาส
นอกจากนี้ยังพบเรื่องที่ไม่เป็นธรรมมาก
หลังพบบางสถาบันอุดมศึกษาจัดสอบรับตรงในหลักสูตรเดียวกันหลายๆ ครั้ง
จัดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อหวังเก็บเงินค่าสมัครสอบให้ได้มากๆ
โดยใช้วิธีรับคนเข้าเรียนในการสอบรับตรงแต่ละรอบให้น้อย แต่เปิดสอบหลายรอบ
ซึ่งมีสถิติสูงสุดถึง 6 ครั้ง ขณะที่ผู้สมัครรับตรงแต่ละครั้ง
ก็คือผู้สอบหน้าเดิมๆ ที่สอบครั้งแรกไม่ได้ก็มาสมัครสอบใหม่
ซึ่งกรณีนี้ควรต่อว่ามหาวิทยาลัย
"ส่วนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบรับตรงส่วนกลาง
หรือระบบเคลียริ่งเฮาส์ ที่จัดทำเพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบตรงนั้น
การจัดสอบดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาได้เพียงส่วนหนึ่ง
ขณะเดียวกันระบบเคลียริ่งเฮาส์ ก็ดูไม่ต่างจากแอดมิสชั่นส์กลางเท่าไหร่
เพราะปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาก็ยังเปิดรับตรงกันอยู่
และเปิดเร็วขึ้นกว่าเดิม
จากช่วงการเปิดสมัครรับตรงจะอยู่ช่วงภาคการศึกษาที่ 2 ของระดับมัธยมปลาย
แต่ปัจจุบันเริ่มเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ก็เริ่มเปิดสมัครรับตรงแล้ว
อย่างไรก็ตาม
การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจต้องบังคับด้วยการใช้ประกาศมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เหมือนที่เคยมีมติให้สอบเอนทรานซ์ เช่นอดีตที่ผ่านมา" นายภาวิช กล่าว
ที่มา: สยามรัฐ