นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เปิด
เผยว่าจากการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ได้มีการหารือเรื่องการจัดสรรเงินวิทยฐานะให้แก่ครู
เนื่องจากขณะนี้มีครูจำนวนหนึ่งที่ผ่านการประเมิน
เพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแล้ว
แต่กลับยังไม่ได้รับเงินวิทยฐานะตั้งแต่เดือน ส.ค.54 ถึง พ.ย.55
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีแนวทางว่าในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.54
จะขอใช้งบประมาณกลาง ส่วนเดือน ต.ค.54 ถึง พ.ย.55
จะตั้งงบประมาณของปีงบประมาณ 2557 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ครู ทั้งนี้
รู้สึกเห็นใจครูกลุ่มนี้มากเพราะกว่าจะผ่านการประเมินวิทยฐานะก็ยากมากพอ
แล้ว จึงอยากให้ครูได้รับเงินอย่างรวดเร็ว
โดยหลังจากนี้ได้มีการวางแผนไว้แล้วว่าครูที่ผ่านการประเมินวิทยฐานะจะต้อง
ให้ได้รับเงินในปีงบประมาณถัดไปทันที
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเงินค้างจ่ายในลักษณะนี้อีก
ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะ
นี้มีการค้างจ่ายเงินวิทยฐานะมาตั้งแต่เดือน ส.ค.54 จนถึง พ.ย.55 ดังนั้น
สพฐ.จึงได้เตรียมเสนอขอตั้งงบฯ แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ตามห้วงเวลา ได้แก่
เงินค้างจ่ายประจำปีงบฯ 2554 เดือน ส.ค.-ก.ย.54 ประมาณ 1,800 ล้านบาท
เงินค้างจ่ายประจำปีงบฯ 2555 เดือน ต.ค.54-ก.ย.55 ประมาณ 13,000 ล้านบาท
และเงินค้างจ่ายประจำปีงบฯ 2556 เดือน ต.ค.-พ.ย.55 ประมาณ 300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รมช.ศึกษาธิการ เห็นว่าหลักของการตั้งงบฯ วิทยฐานะนั้น
ควรจะให้ค้างจ่ายได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นเงินค้างจ่ายประจำปีงบฯ 2554
จะมีการเสนอของบฯ กลาง เพราะขณะนี้เวลาล่วงเลยมานานแล้ว
และยอดเงินก็ไม่สูงเกินไป ส่วนเงินค้างจ่ายประจำปีงบฯ 2555-2556
จะมีการตั้งงบฯ ในปีงบฯ 2557ทั้งนี้การตั้งงบฯ วิทยฐานะนั้น
เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถประมาณได้
จะต้องตั้งจากจำนวนจริงที่ครูผ่านการประเมินวิทยฐานะ เพราะสำนักงบประมาณ
จะไม่จัดสรรเงินให้ในกรณีที่ครูยังไม่ผ่านการประเมิน
จึงทำให้ไม่สามารถตั้งงบฯไว้ล่วงหน้าได้ก่อน
ขณะเดียวกัน นายชินภัทร
ยังกล่าวถึงนโยบายการเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษให้แก่ครูและนักเรียน
โดยจะมีการประเมินสมรรถนะของครู
ซึ่งจะใช้มาตรฐานของยุโรปมาเป็นมาตรฐานในการประเมินครูภาษาอังกฤษที่สอนใน
แต่ละระดับชั้น
และเก็บผลการประเมินไว้เป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงกับเกณฑ์การประเมิน เพื่อขอมี
และเลื่อนวิทฐานะแนวใหม่ เพราะเกณฑ์ใหม่จะพิจารณาจากสมรรถนะของครู
และผลการเรียนของนักเรียน นอกจากนี้จะมีการจัดทำหลักสูตร
เพื่อใช้อบรมครูภาษาอังกฤษที่สอนในระดับชั้น ป.1-2 ซึ่งจะทำให้ครูประจำชั้น
แม้จะไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง
ก็สามารถสอนวิชาภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจ
"สถาบันภาษาอังกฤษของ
สพฐ.จะเร่งทำมาตรฐานการสื่อสารภาษาอังกฤษ ของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น
ว่าเด็กควรจะเรียนรู้อะไร และสามารถใช้ภาษาอังกฤษในด้านใดบ้าง เช่น คำศัพท์
ประโยคสนทนาที่เด็กควรสื่อสารได้ เป็นต้น รวมถึงจัดทำสัญลักษณ์ Let's
speak english เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการและบุคลากรของ
สพฐ.ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน มากขึ้น" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ที่มา : สยามรัฐ