ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

เปิดผลวิจัย 'ทุกข์ของครู' ปมสู่ความสิ้นหวัง

          ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู โดยคณะกรรมการการศึกษาวิจัยและประเมินของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู มี ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เป็นประธานคณะกรรมการ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "เหตุแห่งทุกข์ที่นำไปสู่ความสิ้นหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของครูไทย" โดยมอบหมายให้ ดร.จันทร์แรม เรือนแป้น และคณะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็น ผู้ดำเนินการวิจัย เนื้อหาสาระเพื่อนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงสัปดาห์แห่งงานวันครู วันที่ 16 มกราคม 2556
          การศึกษาวิจัยเรื่องเหตุแห่งทุกข์ที่นำไปสู่ความสิ้นหวังในการปฏิบัติ หน้าที่ของครูไทยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจใช้วิธีการเชิงปริมาณและเชิง คุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจเหตุแห่งทุกข์ของครูไทยและระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์ที่พบ (2) สำรวจระดับความสิ้นหวังต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของครูไทย (3) หาความสัมพันธ์ของเหตุแห่งทุกข์แต่ละสาเหตุกับความสิ้นหวังในการปฏิบัติงาน ในหน้าที่ของครู (4) เปรียบเทียบความแตกต่างของเหตุแห่งทุกข์ของครูไทยเมื่อจำแนกตามลักษณะส่วน บุคคล ลักษณะงาน และปริมาณของการปฏิบัติหน้าที่ (5) เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระดับความรู้สึกสิ้นหวังในการปฏิบัติงานใน หน้าที่ของครูไทยเมื่อจำแนกตามลักษณะส่วนบุคคล ลักษณะงานและบริบทของการปฏิบัติงานและ (6) สังเคราะห์ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อวิธีการขจัดเหตุแห่งทุกข์ที่นำไปสู่ ความสิ้นหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของครูไทย
          ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันในการปฏิบัติหน้าที่ของครูไทยโดยรวมมิได้อยู่ในสภาพที่เลว ร้ายเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์ในภาพรวมที่ปรากฏอยู่ใน ระดับน้อย และระดับความสิ้นหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของครูไทยในภาพรวมที่ปรากฏอยู่ใน ระดับน้อยเช่นกัน และยังพบว่าเหตุแห่งทุกข์ทั้ง 4 ด้าน คือ (1) ด้านการทำงาน (2) ด้านชีวิตส่วนตัวและครอบครัว (3) ด้านสุขภาพ และ (4) ด้านศาสนา และความเชื่อส่วนบุคคล มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสิ้นหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของครูไทยอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ
          ข้อค้นพบที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกที่พบว่ามีครูจำนวน มากที่ระบุว่าตนเองยังไม่สิ้นหวังกับการปฏิบัติหน้าที่ครู โดยอธิบายความรู้สึกของตนเองอันเป็นผลมาจากสภาพปัญหาที่ต้องเผชิญว่าเป็น ความรู้สึก "ท้อแท้" มากกว่า "ความสิ้นหวัง" และยังอยู่ในวิสัยที่ครูจะสามารถคลี่คลายความรู้สึกท้อแท้ที่เกิดขึ้นด้วยตน เอง เช่น การหาทางแก้ไขปัญหาที่นำมาซึ่งความรู้สึกท้อแท้ การระบายความรู้สึกของตนเองกับสมาชิกในครอบครัว การมองโลกในแง่บวก การใช้หลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นต้น
          แต่การสัมภาษณ์เชิงลึกยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า ยังมีครูที่ระบุว่าตนมีความรู้สึกสิ้นหวังกับการปฏิบัติหน้าที่ครูรวมอยู่ ด้วย โดยพบว่าปัญหาด้านการงานเกือบทุกปัญหาสามารถทำให้ครูมีความรู้สึกสิ้นหวังใน การปฏิบัติหน้าที่ครูได้ทั้งสิ้น
          ข้อค้นพบในส่วนนี้ มีความสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ที่พบว่าเหตุแห่งทุกข์ด้านการงานสามารถอธิบายระดับความสิ้นหวังของครูไทยได้ มากกว่าด้านอื่น และเมื่อนำค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานระดับความรุนแรงของเหตุแห่ง ทุกข์ด้านการงานเป็นรายข้อมาพิจารณารวมด้วย จะพบว่าปัญหาด้านการงานนี้มีค่าเฉลี่ยระดับความรุนแรงมากที่สุด 3 ลำดับแรกในกลุ่ม ยังคงเป็น
          (1) เรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทน (2) เรื่องสวัสดิการ และ (3) เรื่องของงานสนับสนุน ที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับครูส่วนใหญ่ ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญของครูที่มีการกล่าวถึงกันมาตลอด โดยเฉพาะปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ที่ส่งผลโยงใยไปสู่ปัญหาหนี้สินครู ปัญหาคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจของผู้ที่เป็นครู ปัญหาผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนที่ต่ำลง ปัญหาวิกฤตศรัทธาในวิชาชีพครู (พิมพิดา โยธาสมุทร, 2553 ; สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543) และปัญหาภาระงานที่ครูส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาร้อยละ 10-20 ของเวลาสอนตามปกติไปกับงานธุรการ (อมรวิชช์ นาครทรรพ,2553) ยังคงเป็นปัญหาสำหรับครูส่วนใหญ่และยังคงมิได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไปจาก สภาพการปฏิบัติงานของครูในปัจจุบัน
          การวิจัยยังพบว่า ความแตกต่างในตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการทำงาน (การปฏิบัติงานของครู) ลักษณะส่วนบุคคลและลักษณะงาน เกือบทุกตัวแปรสามารถส่งผลให้เกิดความแตกต่างในระดับความรุนแรงของเหตุแห่ง ทุกข์ และระดับความสิ้นหวังในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของครูได้ทั้งสิ้น
          เช่น (1) เมื่อนำตัวแปรภูมิภาคในการปฏิบัติงานมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ากลุ่มครูที่มีระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ "ครูที่ปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็นผลมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ส่งผลถึงขวัญกำลังใจและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของครูอย่างต่อ เนื่อง
          (2) เมื่อนำตัวแปรอายุมาพิจารณารวมด้วย จะพบว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่นคือกลุ่ม ครูที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปี เป็นช่วงวัยที่มีภาระทางการเงินสูง เนื่องจากอยู่ระหว่างการสร้างครอบครัว และฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม
          (3) เมื่อนำตัวแปรประสบการณ์การทำงานมาพิจารณารวมด้วย จะพบว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มครูที่มีประสบการณ์การทำงานมาเป็นเวลา 6-10 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่มีประสบการณ์ตรงกับการทำงานในหน้าที่ครูมาแล้วในระดับ หนึ่ง ในขณะที่ยัง "มีไฟ" หรือความกระตือรือร้นที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่ปรารถนาต่างๆ
          (4) เมื่อนำตัวแปรระดับตำแหน่งมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ากลุ่มครูที่มีความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มครูที่มีตำแหน่งครูพิเศษ หรือครูอัตราจ้าง เป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงในอาชีพน้อย และมักได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์อย่างอื่นต่ำกว่าครูในตำแหน่งอื่น
          (5) เมื่อนำตัวแปรรายได้ของตนเองต่อเดือนมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มครูที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท และ 10,001-20,000 บาท อันเป็นอัตราที่ยากต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมปัจจุบัน
          (6) เมื่อนำตัวแปรจำนวนหนี้สินมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มครูที่มีหนี้สิน 3,000,001 บาทขึ้นไป อันเป็นผลจากความวิตกกังวลในภาระหนี้สินที่มีเป็นจำนวนมาก เท่ากับมีระดับความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในการชำระหนี้มากกว่าผู้ที่มีจำนวน หนี้สินต่ำกว่า
          (7) เมื่อนำตัวแปรหน่วยงานที่สังกัดมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์มากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชน เป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงในอาชีพน้อย และมักได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์อย่างอื่นต่ำกว่าครูในสังกัดอื่น เป็นต้น
          สำหรับสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ด้านการงาน เป็นด้านที่มีอิทธิพลสูงสุดในการอธิบายระดับความสิ้นหวังในการปฏิบัติ หน้าที่ครูตามที่พบในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่
          (1) ปัญหาจากภาระงานโดยเฉพาะภาระงานอย่างอื่นนอกเหนือจากการสอนที่มากเกินไปจนทำ ให้ครูไม่สามารถปฏิบัติงานสอนได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาจะได้แก่ การลดภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอนให้น้อยลง และการจัดบุคลากรสายสนับสนุนเพื่อรับผิดชอบงานเหล่านี้โดยตรง เพื่อให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่การจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียน ได้อย่างเต็มที่
          (2) ปัญหาจากตัวผู้เรียนและผู้ปกครอง โดยปัญหาจากตัวผู้เรียนจะมีทั้งปัญหาเชิงปริมาณจากจำนวนนักเรียนในชั้นที่ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และปัญหาเชิงคุณภาพที่เป็นผลจากกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพรวมทั้งลักษณะความประพฤติของเด็กแต่ละคน โดยแนวทางแก้ไข ครูต้องพัฒนาพฤติกรรมการสอนของตัวครูเอง และรวมทั้งปรับแก้พฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล ก็จะทำความยุ่งยากและต้องใช้เวลากับตัวครูพอสมควร ส่วนปัญหาจากผู้ปกครองจะมีตั้งแต่ความคาดหวังที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน ของครู/โรงเรียน ความไม่เข้าใจกันระหว่างครูกับผู้ปกครอง การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในกิจกรรมของทางโรงเรียนที่ลดน้อยลง จนขาดโอกาสในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน การแก้ไขต้องสร้างความร่วมมืออย่าง ใกล้ชิดระหว่างครูกับผู้ปกครอง
          (3) ปัญหาจากการบริหารสถานศึกษาและความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา แนวทางแก้ปัญหา อาจได้แก่ การปรับปรุงระบบสรรหาผู้บริหารโดยเน้นในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ภาวะผู้นำ และความสามารถในการบริหารจัดการสถานศึกษายุคใหม่
          (4) ปัญหาจากระบบเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในสังคมปัจจุบันและความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง ครูแต่ละสังกัด แนวทางแก้ปัญหา ต้องแก้ปัญหาเป็นภาพรวมของประเทศ และหาทางชดเชยโดยวิธีการต่างๆ
          (5) ปัญหาจากระบบสวัสดิการที่ยังไม่น่าพอใจและไม่เท่าเทียมกันระหว่างครูแต่ละสังกัด ต้องร่วมกันพิจารณาแก้ปัญหาเป็นภาพรวม
          (6) ปัญหาเกี่ยวกับเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพครูที่ผูกโยงกับการทำผลงานทาง วิชาการเพื่อเลื่อนระดับเงินเดือนหรือระดับวิทยฐานะที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งในตัวระบบ วิธีการ เกณฑ์ และผลลัพธ์ แนวทางแก้ปัญหา ได้แก่ การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และการปรับปรุงวิธีวัด วิธีประเมินผลงานให้เหมาะสมกับครู แต่ละกลุ่ม
          และ (7) ปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพ โดยจะพบปัญหานี้เฉพาะกลุ่มครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชน รวมทั้งกลุ่มครูพิเศษ และกลุ่มครูอัตราจ้างในโรงเรียนสังกัดหน่วยงานภาครัฐ แนวทางแก้ปัญหา การเปิดโอกาสให้ครูกลุ่มเหล่านี้ได้รับการบรรจุ หรือมีหลักประกันความมั่นคงในอาชีพมากกว่าที่ เป็นอยู่


          --มติชน ฉบับวันที่ 15 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

แสดงความคิดเห็น