ข่าวการศึกษา

บทความการศึกษา

ข่าวเรียกบรรจุครูผู้ช่วย

ข่าวสอบพนักงานราชการ

ข่าวสอบครูอัตราจ้าง

สอบธุรการ

ศธ.ตอบรับจัดพิจารณ์ทรงเกรียนยกเครื่องกฎ

          "พงศ์เทพ" ถามราชบัณฑิตไขข้อข้องใจ "ตีนผม" เปิดรับความเห็นทุกฝ่ายยกเครื่องกฏ ปธ.สภา นร.ห่วงดูโตเกินวัย แนะจับตาเรื่องท้องก่อนวัย
          ความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียน เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กฎกระทรวงที่ใช้ในขณะนี้ คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ในกรณีนักเรียนชายระบุว่า ให้ไว้ผมยาวไม่เกินตีนผม โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับราชบัณฑิตยสถานจึงได้สอบถามความ หมายของคำว่า "ตีนผม" ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า คือผมด้านหลังที่อยู่บนคอ ฉะนั้นแสดงว่าการไถเกรียนด้านข้างไม่ใช่แน่นอน แต่ถ้าพูดว่า "ผมรองทรง" คือ ใช่แน่นอน เพราะผมจะยาวไม่เกินตีนผม
          ส่วนนักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้น หรือถ้าไว้ผมยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อยขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนจุดนี้คณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบอกว่า หากปล่อยเช่นนี้โรงเรียนก็ไปกำหนดเอง เกิดความลักลั่น ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างการไว้ผมของนักเรียนชายและหญิง ซึ่งให้นักเรียนเป็นผู้เลือกเอง ไม่ใช่โรงเรียนไปกำหนด การชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดการปฏิบัติแบบอย่างเดียวกันทั่วประเทศจะ ดีกว่า และจะไม่ขัดกับที่คณะกรรมการสิทธิฯ ท้วงติงมา
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ระบุถึงการไว้หนวดเคราของนักเรียนชาย หรือการใช้เครื่องสำอางของนักเรียนหญิงนั้น ตรงนี้ในการยกร่างกฎกระทรวงใหม่ จะมีการยกเลิกข้อความดังกล่าวนี้หรือไม่ นายพงศ์เทพ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้อง ขณะนี้พูดกันเฉพาะเรื่องทรงผม ส่วนข้อห้ามเรื่องการไว้หนวด ไว้เครา หรือการใช้เครื่องสำอางยังคงไว้ตามกฎกระทรวงเดิม ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของทรงผม ประเด็นนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำความเข้าใจ
          "ที่ผ่านมาโรงเรียนยังเข้าใจว่าการไว้ทรงผมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เข้าใจ ที่บอกว่า ผมยาวไม่ถึงตีนผมหมายถึงอะไร เราชี้ให้เห็นว่าหมายถึงอะไรขณะเดียวกันผมก็ไปถามความหมายราชบัณฑิตมาแล้ว ว่า หมายถึงผมด้านหลังที่อยู่บนคอ ไม่ได้หมายความว่าต้องไถข้างเกรียน หลังเกรียนเด็กคนไหนหรือผู้ปกครองต้องการไว้ผมสั้นเองก็เป็นสิทธิและเสรีภาพ เด็กหลายคนอาจจะต้องการโกนหัวก็ไม่ว่ากัน แต่หากเด็กต้องการไว้ผมรองทรงก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขาและถูกต้องตามกฎ กระทรวง ฉบับที่ 2" นายพงศ์เทพกล่าว
          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า กำลังพิจารณายกร่างกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าวใหม่ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รวมทั้งการให้ความเห็นที่มีการแสดงในช่วงเวลานี้ด้วยคณะทำงานปรับปรุงกฎ กระทรวงจะรวบรวมนำไปทบทวนก่อนออกเป็นกฎกระทรวงฉบับต่อไป
          ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่กระทรวงศึกษาธิการให้อิสรภาพในการไว้ผมนักเรียนมากขึ้น แต่การเปิดอิสรภาพก็หมายความว่า โรงเรียนจะต้องมีแนวปฏิบัติต่างๆ ในการควบคุมดูแลไม่ให้การไว้ทรงผมนักเรียนเป็นแฟชั่นมากเกินไป ต้องวางกรอบของความเป็นนักเรียนด้วย ส่วนเด็กต้องมีความประพฤติที่เรียบร้อยและให้ความเคารพต่อสถานที่ เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้ทางโรงเรียนจะต้องกำกับดูแลอยู่แล้ว เพราะบางครั้งเด็กต้องตัดผมเกรียนอาจเป็นเรื่องที่เจ็บปวดเหมือนถูกกดดัน สำหรับนักเรียนที่เรียนหลักสูตรวิชาทหารรักษาดินแดน หรือ รด.ยังมีกฎเกณฑ์อยู่ดังนั้นนักเรียนต้องเข้าใจระเบียบวินัยทางทหารเป็น เรื่องที่ต้องถือปฏิบัติตามด้วย
          ส่วน นายเสฏฐวุฒิ ตั้งสถิตพร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนหนองฉางวิทยา จ.อุทัยธานี ในฐานะประธานสภานักเรียนประจำปี 2556 ย้ำว่า จะตัดผมทรงไหน คงไม่ทำให้นักเรียนดีขึ้นหรือแย่ลง จึงไม่คัดค้านเรื่องนี้ การไว้ผมทรงไหนควรจะให้เด็กเป็นคนตัดสินใจเอง บางคนที่หน้าตาดีตัดผมทรงสั้นเกรียนก็ดูไม่น่าเกลียด แต่สำหรับคนที่ตัดแล้วดูไม่ดี อาจจะเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กได้ เพียงแต่คิดว่ายังคงจะต้องมีกฎระเบียบคอยดูแลในเรื่องความเหมาะสม เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ดูโตเกินวัยส่วนที่จะให้ถึงขั้นทำสีผม หรือไว้ทรงอะไรก็ได้นั้น เรื่องนี้ไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะจะดูเป็นหนุ่มสาวเกินวัย ไม่ใช่เด็กวัยเรียน
          "การยกเลิกให้นักเรียนชายตัดผมสั้นเกรียนและให้นักเรียนหญิงไว้ผมยาวนั้น แม้จะทำให้เด็กดูดีขึ้นทั้งหญิงและชาย ผมอยากให้ระวังว่าจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะทำให้ปัญหาท้อง แท้ง ทิ้ง ที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าว ก็เกิดกับเด็กวัยเรียนมากอยู่แล้ว อยากให้ผู้ใหญ่หาทางป้องกันเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย" นายเสฏฐวุฒิกล่าว

 
          --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

แสดงความคิดเห็น