เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม
นายสุบรรณ ไชยศิริโชติ
รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
เปิดเผยกรณีที่นายธวัชชัย พิกุลแก้ว
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 4
และนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย
เสนอให้รัฐบาลบรรจุครูอัตราจ้างประมาณ 3 หมื่นกว่าคน
ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3
หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ เป็นข้าราชการครูเพิ่มจากปีละ 25%
ของอัตราเกษียณอายุราชการ เป็นปีละ 50%
หรืออาจเพิ่มการบรรจุเป็นพนักงานราชการก็ได้
เพื่อให้ครูอัตราจ้างมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
และมีความมั่นคงในอาชีพเช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้บรรจุพยาบาลอัตราจ้างชั่ว
คราวเป็นข้าราชการ ว่า การจะเพิ่มสัดส่วนการบรรจุครูอัตราจ้าง
จะต้องนำเสนอเหตุผล และความจำเป็นให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ที่มีนายพงศ์เทพ
เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะต้องนำจำนวนครูอัตราจ้างในปัจจุบัน
และอัตราเกษียณอายุราชการที่ได้รับคืนมาคำนวณด้วย
เนื่องจากปัจจุบันอัตราดังกล่าวที่ได้รับคืนมาจะต้องจัดสรรเพื่อสอบบรรจุ
ทั่วไปรองรับนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่จบออกมาแต่ละปี
ดังนั้นการจะเพิ่มสัดส่วนการบรรจุข้าราชการครูให้ครูอัตราจ้าง
ต้องไม่ไปกระทบการสอบบรรจุทั่วไปด้วยเช่นกัน
เพราะแต่ละปีมีนักศึกษาจบมาเป็นจำนวนมาก
"ถ้าจะให้เพิ่มสัดส่วนการบรรจุครูอัตราจ้างจากเดิม 25% เป็น 50% อาจจะยาก
เพราะจะไปกระทบกับการสอบบรรจุทั่วไป
และการกันอัตราไว้เพื่อการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย
ซึ่งครูอัตราจ้างในปัจจุบันแม้จะสอบบรรจุในสัดส่วน 25% ไม่ได้
ก็สามารถสอบแข่งขันทั่วไปได้เหมือนกัน" นายสุบรรณกล่าว
ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของ ก.ค.ศ.จะพิจารณา เพราะ
ก.ค.ศ.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การบรรจุครูอัตราจ้างดังกล่าวไว้
ซึ่งจะต้องมีเหตุและผลที่รับฟังได้ในการที่จะเพิ่มสัดส่วนการบรรจุ
ครูอัตราจ้างเป็นข้าราชการครู
--มติชน ฉบับวันที่ 8 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--